วิชาดาบอาทมาฏ ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อาทมาต, อาทมาฏ, อาตมาท, อาทมารถ หรือ อาจสามารถ เป็นชื่อเรียกวิชาดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าตกทอดมาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ยังมีพระอิสริยยศ เป็น พระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก และตกทอดกันมาถึงผู้สืบทอดปัจจุบันจากในตัวเมืองพิษณุโลกนี่เอง
วิชาดาบแบบอาทมาฏ มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็ว รุนแรง และเด็ดขาด สามารถสู้ได้เพียงคนเดียวต่อคู่ต่อสู้หลายคน มีท่ารุกเป็นท่าเดียวกับท่ารับ เมื่อคู่ต่อสู้ฟันมาจะรับและฟันกลับทันที ไม่มีอะไรตายตัว มีแม่ไม้ 3 ท่า คือคลุมไตรภพ ตลบสิงขร และย้อมฟองสมุทร และมีท่าไม้รำ 12 ท่า ได้แก่
1.เสือลากหาง
2.พระรามแผลงศร
3.เชิญเทียนตัดเทียน
4.ฟันเงื้อสีดา
5.มอญส่องกล้อง
6.ช้างประสานงา และ กาล้วงไส้
7.ท่ายักษ์
8.หงส์ปีกหัก
9.สอดสร้อยมาลา
10.ฟันเรียงหมอน
11.ลับหอกลับดาบ
12.พญาครุฑยุดนาค
ซึ่งแม่ไม้ที่ถือว่าเป็นเด็ดขาด ได้แก่ หนุมานเหินหาว คือการกระโดดฟันที่ลำคอคู่ต่อสู้ภายในก้าวเดียว มะพร้าวทิ้งดิ่ง คือ การกระโดดฟันที่ลำตัวคู่ต่อสู้ ใช้สำหรับคู่ต่อสู้ที่ป้องกันตัว และ ไผ่พันลำ คือ การจู่โจมฟันที่แขนหรือข้อมือ เป็นต้น และมีท่าป้องกันตัวซึ่งเป็นท่าเบื้องต้นป้องกันทั่วทั้งตัวและเตรียมพร้อม จู่โจมอีก 3 ท่า ได้แก่ คลุมไตรภพ, ตลบสิงขร และย้อนฟองสมุทร แม่ไม้สูงสุดสำหรับผู้ที่รับขันฑ์ครูแล้วคือ "ตัดข้อตัดเอ็น"
โดยหัวใจของวิชาอาทมาฏ มีเป็นคำกล่าวที่คล้องจองกันดังนี้
มีเรื่องต้องหนี หนีไม่ได้ให้สู้ สู้ได้อย่าให้เจ็บ เจ็บได้อย่าให้ตาย
ลักษณะของดาบแบบอาทมาฏ จะเป็นดาบสองมือ (ดาบคู่) ที่สั้นและมีน้ำหนักเบา มีความคล่องแคล่ว มีด้ามที่ยาวกว่าดาบปกติ เพื่อป้องกันข้อแขนและเส้นเอ็นของผู้ใช้ อีกทั้งสามารถใช้ผลักหรือดันคู่ต่อสู้ให้เสียหลักได้ รวมถึงใช้กระแทกกระทุ้งด้วย และด้านคมที่ต่อจากด้ามจะเป็นสันที่หนาและยาวใช้สำหรับรับ โดยไม่ใช้ส่วนคมดาบเพราะจะทำให้ดาบบิ่นชำรุดได้ง่าย ซึ่งหัวใจของดาบแบบอาทมาฏ มีเป็นคำที่คล้องจองกัน คือ
เขาฟันเราไม่รับ เขารับเราไม่ฟัน จะฟันต่อเมื่อเขาไม่รับ จะรับต่อเมื่อหลบหลีกไม่ทัน
นอกจากนี้แล้ว คำว่า อาทมาฏ ยังเป็นคำใช้เรียกกองทหารหน่วยลาดตระเวนหาข่าวในสมัยโบราณ คล้ายทหารสื่อสารในปัจจุบัน โดยมากมักจะเป็นชาวมอญเนื่องจากสื่อสารได้หลายภาษา
วิชาอาทมาฏถูกอ้างอิง ถึงในสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัย อาทิ ขุนศึก นวนิยายโดย ไม้ เมืองเดิม ในปี พ.ศ. 2497 และในหนังสือการ์ตูนเรื่อง กองอาทมาตประกาศศึก ในปี พ.ศ. 2550 เป็นต้น และอ้างอิงถึงในวรรณคดีของไทยเช่น ขุนช้างขุนแผน เช่น ตัวละคร ขุนไกรพลพ่าย ซึ่งเป็นบิดาของขุนแผน ตัวละครเอก ก็มีสถานะเป็นนายทหารสังกัดกองอาทมาฏ