ปางวันพุธกลางวัน
เกิดวันพุธ กลางวัน
พระปางอุ้มบาตร
เกิดวันพุธ กลางวัน พระประจำวันเกิดคือ ปางอุ้มบาตร
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ส้นพระบาททั้งสองชิดติดกัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างชิดกัน พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตรราวสะเอว มีบาตรอยู่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง
ประวัติและความสำคัญ
ประวัติที่เป็นเรื่องราวนั้นสืบเนื่องต่อมาจากพระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ กล่าวคือ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้งแรกทรงทำอิทธิปาฎิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศ ทรมานให้พระประยุรญาติได้ถวายบังคมแล้วเสด็จลงมาประทับนั่ง บนพระบวรพุทธอาสน์ ยังฝนโบกขรพรรษ์ให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ แล้วทรงประกาศมหาเวสสันดรชาดก ยกขึ้นเป็นเทศนา ครั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว บรรดาพระญาติทั้งหลาย มีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเป็นประธาน ก็ได้เบิกบานปีติปาโมทย์ เปิดพระโอษฐ์แซ่ซ้องสาธุการแล้ว พระญาติทั้งหลายก็กราบทูลลาคืนยังพระราชสถานแห่งตน มิได้มีพระญาติสักองค์หนึ่ง ได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงรับอาหารบิณฑบาตรในยามเช้าพรุ่งนี้ แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะ ก็เพียงแต่ทูลลามิได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้า เช่นกัน ด้วยทรงนึกไม่ถึงว่า ธรรมดาพระจะต้องอาราธนา จึงจะได้มารับบิณฑบาตรในบ้านซึ่งเป็นปกติของสามัญชนธรรมดาทั่วไป พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ทรงรู้สึกอย่างเป็นพระญาติที่สนิทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระโอรส พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็เป็นศิษย์ของพระโอรสแล้วพระโอรสจะเสด็จไปไหนเสีย เมื่อไม่มายังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ จึงไม่จำเป็นต้องทูลอาราธนา พระเจ้าสุทโธทนะทรงแน่พระทัยเป็นอย่างยิ่งว่า พระบรมศาสดาจะต้องพาพระสาวก ทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แน่นอน จึงไม่ทรงทูล อาราธนา ยิ่งไปกว่านั้นยังกลับเห็นว่า หากออกพระกระแสรับสั่งอาราธนา ก็จะกลายเป็นว่า พระบรมศาสดาเป็นคนอื่นมิใช่พระโอรส ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จถึงพระราชนิเวศน์ จึงโปรดให้พนักงานจัดแจงตกแต่งอาหารอันประณีตเป็นพิเศษไว้พร้อมมูล เพื่อถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งมวลในวันพรุ่งนี้ ตลอดเวลาเย็นถึงเวลารุ่งเช้า เมื่อไม่ปรากฏว่ามีใครมาอาราธนาพระบรมศาสดาไปเสวยที่ใดแล้ว พระองค์ก็ทรงพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระนครของพระพุทธบิดาแล้ว ทรงปฎิบัติอย่างไร ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อนได้เสด็จไปบิณฑบาตรตามลำดับตรอก ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้ว จึงทรงถือเอาบาตรและจีวรพาภิกษุสงฆ์ เสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนนหลวง ปรากฏแก่ประชาราษฏร์ ต่างได้มีโอกาสชมพระบารมี และมีความปีตียินดีประณมหัตถ์นมัสการ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็น พระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร เสด็จพระพุทธลีลาโปรดประชาสัตว์ เป็นการเพิ่มพูนความปีติ โสมนัส พระพุทธจริยาตอนนี้เป็นเหตุให้พุทธบริษัทสร้างพระพุทธรูป เรียกว่า ปางอุ้มบาตร
คาถาสวดบูชา
สัพพาสีวะชาตีนัง ทิพพะมันตาทะคัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณิณัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเส ฯ