ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการของ จอมพลสฤษดิ์
จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้บริหารประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ปกครองประเทศ ทักษ์ เฉลิมเตียรณเห็นว่า ระบบการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น เป็นการปฏิวัติในแง่ที่ว่าเป็นการล้มล้างระบบการเมืองทั้งระบบซึ่งตกทอดมาจากพ.ศ.2475 และได้สร้างระบบการปกครองที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นแบบไทย ๆ มากขึ้น
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ คือ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เหมือนดังเช่นผู้นำรุ่นการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตทหารที่เน้นหนักไปในทางใช้อำนาจมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และกล่าวได้ว่าความล้มเหลวของคณะราษฎรในพ.ศ.2475 ได้นำไปสู่ข้อสรุปขั้นต้นในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์ว่า การเมืองไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเมืองไทยและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทยที่มิใช่แบบตะวันตก นั่นก็คือ การปกครองที่เป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบไทยนั่นเอง
รูปแบบของ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย”นี้ เป็นผลสะท้อนมาจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง และเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก ตลอดจนความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวกับระเบียบสังคมการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงวิจิตรวาทการหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ ความคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้ค่ำหวอดกับการใช้กำลังของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้พอสรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทยว่าประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน
ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งประเทศชาติจะเป็นระเบียบไม่ได้ถ้ายังมีระบบพรรคการเมืองที่แบ่งแยกตามแนวตั้ง แต่ควรที่จะต้องอาศัยการแบ่งตามแนวนอนระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ประเทศควรแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ รัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน โดยเชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่ในการวางนโยบายที่สำคัญ ๆ งานที่สำคัญของรัฐบาลคือ จะต้องทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและธำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของชาติ ในขณะที่ระบบราชการจะต้องถูกทำให้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย เพราะระบบราชการถือว่ามีหน้าที่เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครองโดยตรง จึงต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากตัวผู้นำเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้บรรดาข้าราชการทั้งหลายจึงไม่ได้มีความหมายในแง่ของการเป็นผู้รับใช้หรือผู้ให้บริการแก่ประชาชน หากแต่จะมีความหมายไปในลักษณะของการเป็นผู้รับใช้รัฐบาลเป็นสำคัญ เช่น ข้าราชการจะต้องรวบรวมข่าวสารเพื่อนโยบายของรัฐบาล บริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล รับใช้ประชาชนตามขอบข่ายงานที่เบื้องบนได้วางไว้ ดังที่ปรากฏในคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ที่ได้ไว้ให้แก่บรรดาข้าราชการท้องถิ่นดังนี้
“...ระบบการปกครองของไทยเราตั้งแต่โบราณมาก็ถือว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นหูเป็นตาของรัฐบาล ซึ่งคำโบราณพูดว่า “ต่างหูต่างตา” อันที่จริงไม่แต่เพียงต่างหูต่างตาเท่านั้น การปกครองสมัยโบราณของไทยเรายังมีตำแหน่ง “ข้าหลวงต่างใจ” หมายความว่า พวกข้าหลวงผู้ว่าราชการยังต้องเป็นดวงใจที่จะตริตรึกนึกคิดแทนรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย