วัยทองผู้ชาย เรื่องที่ชายต้องรู้ วิธีรับมืออย่างเข้าใจ
วัยทอง (Golden age) หมายถึง วัยแห่งความสำเร็จในชีวิตการงาน แต่ในวัยนี้สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะถูกบั่นทอนจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น และความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ และอาการต่าง ๆ ตามมา
ความจริงที่ผู้ชายต้องยอมรับ
โดยธรรมชาติฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเผาผลาญไขมัน (Metabolism) การสร้างกล้ามเนื้อเพศชาย ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเริ่มลดลงในช่วงอายุ 42 – 45 ปี จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อาทิ ลงพุง อ้วนง่าย ผมร่วง ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งลักษณะอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตหากไม่สามารถปรับตัวได้
เช็กอาการเข้าข่ายผู้ชายวัยทอง
- อารมณ์แปรปรวน
- เบื่อง่าย หงุดหงิดง่าย
- ลงพุง
- นอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- สมาธิลดลง
- ซึมเศร้า
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการวัยทองของผู้ชายแบ่งออกได้เป็น
- อาการทางด้านร่างกาย จะมีอาการอ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่าง ๆ ลดขนาดลง ไม่มีแรง
- อาการทางด้านจิตใจ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
- สุขภาพทางเพศ สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีอารมณ์เพศ บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงจึงไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์และอวัยวะไม่แข็งตัว
- กระดูกและกล้ามเนื้อ ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน กล้ามเนื้อจะค่อย ๆ ลดขนาดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัยทองเร็วกว่าปกติ
- กรรมพันธุ์
- การทำงานหนัก
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ความเครียด
- ความอ้วน
- การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่
- โรคเรื้อรัง อย่างเช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคตับ ไตวาย
วิธีรับมือวัยทอง การปฏิบัติตัวดียืดความเป็นหนุ่มได้นาน
- อาหาร เลี่ยงอาหารรสหวาน เน้นทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย อาทิ ผักใบเขียว ถั่ว ไข่แดง แตงโม หรือหอยนางรม (ผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงต้องระวัง ควรปรึกษาแพทย์และเลือกรับประทานให้เหมาะกับร่างกาย)
- ออกกำลังกาย เน้นชนิดกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่างเช่น ปั่นจักรยาน ตีสควอช เป็นต้น
- จิตใจ คิดบวกและรู้วิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีคือ กำลังใจและความเข้าใจจากคนในครอบครัว
“วัยทองเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกอย่างจะเสื่อมถอยลงไปตามอายุ สิ่งที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้ดีคือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ถูกหมวดหมู่ เราไม่สามารถเอาชนะมันได้ แต่เราสามารถจัดการชีวิตของเราให้ลงตัวได้”