"อโนชา ปันจ้อย" ผู้หญิงไทยที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัว
อโนชา ปันจ้อย คือหญิงสัญชาติไทยที่ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวไปในมาเก๊าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เรื่องของเธอเป็นที่รู้จักเนื่องจากการปล่อยตัวทหารชาวอเมริกันชื่อชาลส์ โรเบิร์ต เจนคินส์ ในปี พ.ศ. 2547
(อโนชาก่อนการลักพาตัว)
วัยเด็กและการถูกลักพาตัว
อโนชาเกิดในปี พ.ศ. 2498 ที่บ้านหนองแสะ ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อของเธอชื่อสม ปันจ้อย เป็นทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ส่วนแม่ของอโนชาเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก ปัจจุบันนายสมเสียชีวิตแล้วเช่นกัน
อโนชาย้ายไปกรุงเทพหลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนที่จะย้ายไปที่อาณานิคมมาเก๊าของโปรตุเกสเพื่อไปทำงานเป็นหมอนวดในโรงแรมท้องถิ่น
ในวันที่ 21 พฤษภาคม อโนชาออกจากอพาร์ตเมนต์โดยบอกว่าจะไปร้านเสริมสวย ตามคำกล่าวอ้างของชาลส์ โรเบิร์ต เจนคินส์ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Reluctant Communist ซึ่งกล่าวอ้างว่าเขียนตามที่อโนชาเล่าให้ผู้แต่งฟัง โดยอโนชาบอกว่าเธอพานักท่องเที่ยวที่อ้างว่าเป็นคนญี่ปุ่นไปขึ้นเรือนำเที่ยว ก่อนที่จะถูกซุ่มทำร้ายที่ชายหาดใกล้เคียงและถูกพาขึ้นเรือไปเกาหลีเหนือ เชื่อกันว่าสาเหตุที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติไปยังเกาหลีเหนือก็เพื่อให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นไปทำหน้าที่ครูสอนภาษาให้กับสายลับชาวเกาหลีเหนือเพื่อการปลอมตัวให้แนบเนียนยิ่งขึ้น
เจนคินส์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อโนชาบอกเขาว่าเธอถูกลักพาตัวมาพร้อมกับคนอีก 2 คน รวมถึงบอกว่าเธอยังคงอยากกลับประเทศไทยเพื่อกลับมาหาญาติพี่น้องอีกครั้ง
ครอบครัวปันจ้อยไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอบ้างจนถึงปี พ.ศ. 2548 เมื่อพี่ชายของเธอจำเธอได้จากรูปถ่ายที่เจนคินส์ถือในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เมื่อครอบครัวปันจ้อยตระหนักว่าอโนชาถูกลักพาตัวไปที่เกาหลีเหนือแล้ว ครอบครัวของเธอก็เริ่มตามหาทางช่วยเหลือให้เธอกลับมา เนื่องจากพ่อของอโนชาเสียชีวิตไปแล้ว พี่ชายและหลานชายของอโนชาจึงเป็นตัวแทนหลักของครอบครัว
ในปี พ.ศ. 2548 พี่ของอโนชาเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อพบกับ เทะรุอะกิ มะสึโมโตะ เลขาธิการของสมาคมเพื่อการให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ รุอิมโกะ พี่สาวของมะสึโมโตะก็ถูกลักพาตัวเช่นกันในปี พ.ศ. 2521
ในปี พ.ศ. 2549 ทางการนครเชียงใหม่ได้จัดงานแสดงภาพเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มความใส่ใจในเรื่องของเธอให้มากขึ้น นอกจากนั้นครอบครัวของเธอยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเธออีกด้วย
และเนื่องจากการตายของคิม จองอิลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ครอบครัวปันจ้อยหวังว่าอโนชาจะยังคงมีชีวิตอยู่ และหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสองชาติ
จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเปียงยางยังคงปฏิเสธว่าอโนชาถูกลักพาตัวโดยสายลับชาวเกาหลีเหนือ รวมถึงความมีตัวตนของเธอในประเทศดังกล่าวแม้ว่าจะถูกรัฐบาลไทยสอบถามไปหลายครั้งรัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงปฏิเสธการลักพาตัวบุคคลสัญชาติอื่น ยกเว้นชาวญี่ปุ่นบางส่วนซึ่งใช้เวลานับสิบปีกว่าทางการเกาหลีเหนือจะยอมรับ