ย้อนเหตุการณ์...ระเบิดในบอสตันมาราธอน พ.ศ. 2556
เหตุระเบิดในบอสตันมาราธอน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยระเบิดสองลูกเกิดระเบิดขึ้นในการแข่งขันบอสตันมาราธอน 2013 เมื่อเวลา 14.49 น. ตามเขตเวลาตะวันออก (1.49 น. ของวันรุ่งขึ้น ตามเวลาประเทศไทย) บนถนนบอยล์สตัน ใกล้จัตุรัสโคพลีย์ ซึ่งเป็นบริเวณหน้าเส้นชัยของการแข่งขัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีก 183 คน
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเหตุระเบิดสามชั่วโมงหลังจากเหตุระเบิด โดยกล่าวว่าในขณะนี้ทางการยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้วางระเบิด แต่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะทำการสืบสวนอย่างถึงที่สุด
ระเบิดเกิดขึ้นสองครั้งโดยห่างกันประมาณ 200 หลา (180 เมตร) ภาพวีดีโอจากบริเวณเส้นชัยแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลา 12 วินาทีระหว่างการระเบิดทั้งสอง ระเบิดลูกแรกระเบิดขึ้นใกล้กับร้าน Marathon Sports ที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 671–673 ถนนบอยล์สตัน ส่วนลูกที่สองระเบิดที่เลขที่ 755 ถนนเดียวกัน ห่างจากลูกแรกไปทางทิศตะวันตกไปประมาณ 1 ช่วงตึก นาฬิกาการแข่งขันขณะระเบิดลูกแรกระเบิดบอกเวลา 04:09:43 (4 ชั่วโมง 9 นาที 43 วินาที) ทั้งนี้ก่อนหน้าการระเบิด เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาวัตถุระเบิดถึงสองครั้ง โดยครั้งหลังทำการค้นหาไปก่อนเกิดการระเบิดเพียงหนึ่งชั่วโมง
เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเชื่อว่าระเบิดที่ระเบิดนั้นเป็นระเบิดแสวงเครื่อง
รายงานเบื้องต้นขัดแย้งกันว่ามีการค้นพบวัตถุระเบิดอื่นเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้มีการค้นพบหีบห่อและกระเป๋าต้องสงสัยจำนวนมาก มีการรายงานว่าหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดตำรวจบอสตันได้ทำการระเบิดแบบจำกัดวงกับหนึ่งในวัตถุต้องสงสัยในการแถลงข่าวโดยผู้ว่าการรัฐ เดวอล แพทริกกล่าวว่ามีวัตถุระเบิดเพียง 2 ลูกนั้นเท่านั้น
ผู้เสียหาย
มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจำนวน 3 คน ได้แก่
- มาร์ติน ริชาร์ด เด็กชายอายุ 8 ขวบ
- ครายส์เทิล แคมป์เบล วัย 29 ปี ผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่ง
- Lü Lingzi (จีนตัวย่อ: 吕令子; จีนตัวเต็ม: 呂令子)) นักศึกษาหญิงชาวจีนมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งสถานกงสุลจีน ประจำนครนิวยอร์ก ได้ออกมายืนยันแล้ว
ผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากได้รับบาดแผลจากสะเก็ดระเบิดบริเวณขาส่วนล่างซึ่งชี้ให้เห็นว่าตัววัตถุระเบิดอยู่ต่ำระดับพื้น
การตอบสนอง
เจ้าหน้าที่กู้ภัย ผู้ร่วมเหตุการณ์ทั้งผู้ชมและนักกีฬาต่างเข้าช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บในทันที ไม่นานหลังจากนั้น เที่ยวบินทั้งหมดที่ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกนถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติออกคำสั่งห้ามบินเมืองอื่น ๆ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ต่างเตือนให้ตำรวจเตรียมพร้อมและระมัดระวัง
การแข่งขันมาราธอนถูกยุติในทันที ตำรวจทำตามแผนภาวะฉุกเฉินโดยให้นักวิ่งที่เหลือเบนเส้นทางออกจากเส้นชัยไปยังบอสตันคอมมอนและจัตุรัสเคนมอร์ โรงแรมลีน็อกซ์ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงถูกสั่งอพยพไปด้วย ตำรวจทำการปิดตายจากจุดเกิดเหตุออกไปในรัศมี 15 ช่วงตึก
โดยการตอบสนองในประเทศไทย จากการตรวจสอบคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บที่ตรวจสอบโดยสถานกงสุลใหญ่ในนครนิวยอร์ก ผลออกมาว่าไม่พบคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุระเบิดครั้งนี้ ในขณะที่ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยฝ่ายความมั่นคงได้ประชุมเพื่อวางมาตรการในการดูแลคนไทยและนักท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยที่จะเพิ่มมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นด้วย
การสอบสวน
สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริการ่วมกับสำนักงานแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาวุธปืนและวัตถุระเบิด หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา และ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติทำการสืบสวนเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ โดยถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการก่อการร้าย เบื้องต้นไม่มีข่าวกรองใดๆ ว่าการก่อการร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้น ปีเตอร์ คิง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ผมได้รับรายงานสรุปลับสุดยอดว่าด้วยระดับภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีหลักฐานว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แม้แต่นิดเดียว
ผู้ต้องสงสัย
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาปล่อยภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัยสองคน พร้อมทั้งร้องขอให้มหาชนช่วยตามหาและระบุตัวตน โดยสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาบอกว่า หนึ่งในผู้ต้องสงสัยทั้งสองปรากฏเห็นว่าทำการวางกระเป๋าสะพายลง ไม่กี่นาทีก่อนการระเบิดลูกที่สอง ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ระบุตัวว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองคือพี่น้องชื่อ Tamerlan Tsarnaev (รัสเซีย: Тамерлан Царнаев) และ Dzhokhar Tsarnaev (รัสเซีย: Джохар Царнаев) ซึ่งเป็นชาวเชเชนบริเวณเทือกเขาคอเคซัสที่อพยพเข้ามาในสหรัฐอเมริการาวปี 2543 หรือ 2544
ผลกระทบ
เหตุระเบิดครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาหลายรายการ โดยการแข่งขันบาสเก็ตบอลระหว่างทีมบอสตันและเซลติกส์และเพเซอร์ส ที่จะจัดขึ้นที่บอสตันในคืนวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556 เอ็นบีเอต้องยกเลิกการแข่งขัน นอกจากนี้การแข่งขันฮ็อกกี้ NHL ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน แม้แต่การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล โดย แฟรงค์ ฮอว์กินส์ อดีตรองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจของลีกอเมริกันฟุตบอลระดับชาติ ได้บอกว่า "เหตุระเบิดจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันกีฬาทั้งหมด ทำให้คนลังเลที่จะเข้าร่วมการแข่งขันที่มีฝูงชนจำนวนมาก เพราะการแข่งขันบนถนนทำให้ยากที่จะรักษาความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่แบบเดียวกับการแข่งขันในสนามกีฬา" นอกจากนี้ตามกำหนดเดิมจะมีการแข่งขันมาราธอนอีก 34 รายการในสหรัฐอเมริกาในช่วงอีกกว่าหนึ่งสัปดาห์จนถึงสิ้นเดือน และผู้จัดการแข่งขันในเมืองโอกลาโฮมาซิตี้ จะหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและตำรวจเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มการรักษาความปลอดภัยสำหรับการแข่งขันที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556 อย่างไร ส่วนผู้จัดการแข่งขันมาราธอนในกรุงลอนดอนของอังกฤษกำลังทบทวนการรักษาความปลอดภัยสำหรับการแข่งขันในวันที่ 21 เมษายนพ.ศ. 2556 ที่จะมีผู้เข้าร่วมเกือบ 37,000 คนด้วยเช่นกัน