มาดูกัน โพชฌงค์ทั้ง ๗ มีอะไรบ้าง (ธรรมชั้นลึก)
เจริญอานาปานสติ เป็นเหตุให้
สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗
วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเอกนั้นมีอยู่ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์; ครั้นธรรมทั้ง ๔ นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์; ครั้นธรรมทั้ง ๗ นั้น อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำธรรมทั้ง ๒ ให้บริบูรณ์ได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธินี้แล เป็นธรรมอันเอก ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์; สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์;โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชาและวิมุตติให้
บริบูรณ์ได้ ?
ภิกษุ ทั้งหลาย.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
...............................................................................................................................................
๑. สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ ดังเช่น การปฏิบัติธรรมวิจัย, การมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต ที่หมายถึงจิตตสังขาร เช่นความคิดปรุงแต่งคืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง, ความมีสติระลึกรู้เท่าทันธรรม
อันสติจักเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ดังเช่น สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นการมีสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอานิสงส์ที่เนื่องสัมพันธ์กับโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย)ให้มีสติไปน้อมกระทำการ
ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ (ความจางคลาย) อันอาศัยนิโรธ (ความดับ)
อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ (ความสละ, ความปล่อย);
...........................................................................................................
๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ) หรือธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญา หรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมชาติ โดยเฉพาะของทุกข์ ก็เพื่อใช้ในการดับทุกข์) กล่าวคือธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
เมื่อมีสติรู้เท่าทัน พร้อมทั้งวิจัยค้นคว้าพิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ที่สติเท่าทันนั้นๆ ย่อมยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริงในสภาวธรรมหรือธรรมต่างๆขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่ได้เห็นเป็นไปตามความอยาก,ความเชื่อ การอ่าน การฟังแต่อย่างเดียวดังเช่นแต่กาลก่อน, ดังเช่น การเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท พระไตรลักษณ์ อริยสัจ๔ ขันธ์๕ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ. เมื่อเกิดความเข้าใจจากการธัมมวิจยะ ปัญญาย่อมสว่างกระจ่าง จึงย่อมรู้คุณ จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมให้เกิด วิริยะ
ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
..........................................................................................................................................................
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่น สู้กิจ ไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติและการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) ตลอดจนการเพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ ท้อแท้, เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ อุปาทานทุกข์น้อยลงหรือเบาบางลง จึงย่อมทำให้เกิดความเพียรขึ้นเป็นธรรมดา
เมื่อเห็นคุณย่อมปฏิบัติด้วยความเพียร เมื่อปฏิบัติด้วยความเพียร อย่างแน่วแน่ในระยะหนึ่ง ไม่ซัดส่ายสอดแส่ ย่อมเป็นปัจจัยครื่องสนับสนุนให้เกิดปีติ
ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
..................................................................................................................................................................
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อมีสติพิจารณาในธรรม ด้วยความเพียรย่อมเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ ความดื่มดํ่า ใจฟู ความแช่มชื่น ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา (จึงมิได้หมายถึง ปีติ ชนิดมีอามิส ความอิ่มเอิบ อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธิอันมีองค์ฌาน ชนิดที่เกิดแต่การติดเพลิน, ติดสุข ทั้งโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี อันมักแสดงออกโดยอาการจิตส่งใน เพราะปีติชนิดนี้ยังให้โทษในภายหน้าแต่อย่างเดียว)
เมื่อวิริยะ อย่างแน่วแน่ในธรรมที่พิจารณา ไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปปรุงแต่งในสิ่งอื่นๆได้ระยะหนึ่ง ย่อมบังเกิดอาการปีติความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นขึ้นนั้นๆ ซึ่งเมื่อความอิ่มเอิบ ความแช่มชื่นจางคลายไป ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัสสัทธิ
ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
...........................................................................................................................................................
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจ อันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป, เมื่อปีติความแช่มชื่น อิ่มเอิบแช่มชื่น อันเกิดแต่ความเข้าใจกระจ่างสว่างในธรรมสงบระงับลงแล้ว ย่อมยังผลให้เกิดการผ่อนคลาย กล่าวคือ เกิดความสงบกายสงบใจตามมา จึงไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย กายใจโปร่งเบาสบาย กล่าวคือ เมื่อกายสงบระงับย่อมเกิดความสุข จึงเกิดการเสวยสุข
เมื่อกายสงบระงับแล้วย่อมเป็นสุข เมื่อเป็นสุขแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนน้อมนำให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์จิตตั้งมั่น
ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
.................................................................................................................................................................
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีจิตตั้งมั่น เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น เพราะย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ไปฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่ง จึงมีจิตหรือสติตั้งมั่นอยู่กับกิจหรืองานที่ทํา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ นั่นเอง เช่น มีสติอย่างต่อเนื่องกับธรรมที่พิจารณา หรือการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก ดังเช่น มีสติเห็นเวทนา หรือมีสติระลึกรู้เท่าทันอาการของจิต เช่นรู้เท่าทันอาการปรุงแต่งหรือรู้เท่าทันว่าฟุ้งซ่านไปภายนอกอยู่เนืองๆ และสมาธินั้นยังเป็นกําลังแห่งจิต ที่ทําให้จิตเข้มแข็งขึ้น ก็เนื่องเพราะความไม่ซัดส่ายไปสอดแส่ให้เกิดทุกข์ในเรื่องอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง จึงย่อมยังให้การปฏิบัติตามความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นเป็นไปอย่างมีกําลัง ดังนั้นสมาธิในสัมโพชฌงค์จึงหมายถึง การมีจิตตั้งมั่น อยู่ได้อย่างต่อเนื่องหรือแนบแน่นในการปฏิบัตนั่นเอง เป็นจิตชนิดที่มีสติปราดเปรียวว่องไว ที่เมื่อระลึกรู้เท่าทันในสิ่งใดแล้ว ก็ปล่อยวางโดยการ อุเบกขาในสัมโพชฌงค์องค์สุดท้าย
สมาธิในโพชฌงค์ จึงเป็นสมาธิเพื่อการวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการปฏิบัติสมถสมาธิ ที่มีสติแนบแน่นหรือแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น อย่างไม่ปล่อยวาง ที่เมื่อสติจางคลายหรือขาดไปแล้ว มีองค์ฌานหรือสมาธิเป็นผลให้เกิดความสุขสงบสบายขึ้น แต่ย่อมเป็นไปในขณะหรือระยะหนึ่งๆเท่านั้น จึงยังจัดว่าเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สมถสมาธิหรือฌานที่ปฏิบัติกันทั่วไป อันมีมาแต่โบราณนั้น ในทางพุทธศาสนาแล้วก็เพื่อเป็นไป เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิในขั้นวิปัสสนาต่อๆไปเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในโพชฌงค์คือสมาธิชนิดสัมมาสมาธิในองค์มรรคที่มีจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย อย่างต่อเนื่อง
เมื่อจิตตั้งมั่น แน่วแน่อย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างเนืองๆ ย่อมประกอบด้วยกำลัง และยังประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเป็นไปตามจริงตามที่ได้สั่งสมมา จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการน้อมนำไปในการอุเบกขา
ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก
อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;
..................................................................................................................................................
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางทีเฉย รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉย หรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง วางเฉย ที่หมายถึง รู้สึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดาไม่ต้องฝืน แต่ตั้งใจกระทำหรือปฏิบัติ ด้วยการไม่(คิดนึก)ปรุงแต่ง ไม่สอดแส่ไปในเรื่องหรือกิจนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย) กล่าวคือไม่คิดเอนเอียง ไม่สอดแส่ ไม่ซัดส่าย ไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เช่น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ในเวทนา(ความรู้สึกรับรู้เมื่อกระทบสัมผัสอันอาจชอบใจหรือไม่ชอบใจ) หรือสังขารขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น จิตฟุ้งซ่าน ,จิตมีโทสะ ฯ. ถ้อยคิดหรือความคิดนึกที่เกิดขึ้น เช่น การคิดปรุงแต่งหรือการเอนเอียงไปคิดเห็นว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นผิด, ไม่ปรุงแต่งทั้งในบุญหรือบาป, ไม่ปรุงแต่งไปทั้งดีหรือชั่ว, ไม่ปรุงแต่งว่าเราถูกหรือเขาผิด, เกิดความรู้สึกอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องเป็นธรรมดา เพียงวางจิตหรือสติหรือความคิดให้เป็นกลางด้วยการกระทำ วางทีเฉย เพราะการที่ไปปรุงแต่งแม้จะเป็นดีหรือสิ่งที่ถูกก็เป็นทุกข์ (แยกแยะให้เข้าใจความหมายถูกต้องด้วย มิได้หมายถึงไม่ทําความดี ไม่ทําบุญ แต่หมายถึงการไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วยึดว่าถูก ว่าดี อย่างนั้น อย่างนี้ อันล้วนยังให้เกิดเวทนา คือความคิดขึ้นใหม่ๆอันย่อมเกิดเวทนาขึ้นอีกทั้งสิ้น อันล้วนอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน ชาติอันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด) ดังเช่น เรานั้นเป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือเกื้อหนุนบุคคลคนหนึ่งอย่างมากๆ เป็นความดีชนิดบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วบุคคลคนนั้นกลับกระทำการสิ่งที่ไม่ดีต่างๆนาๆต่อเรา เพียงแต่เราคิดปรุงแต่งหรือกระทำโดยอาการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญในความดีของเราหรือความชั่วของเขาในเรื่องนี้ขึ้นมา ที่แม้เป็นจริงอย่างที่สุดก็ตาม ท่านก็ย่อมต้องเสวยทุกข์ขึ้นทันที ความดีที่เรากระทำอยู่นั้นเราย่อมได้รับอยู่แล้วเพียงแต่อาจโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อใดที่เราไปคิดยึดมั่นในความดีด้วยกิเลส คือไปอยากให้ความดีนั้นตอบแทน ก็เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นทันที ด้วยเหตุฉะนี้ พระอริยเจ้าท่านจึงมีคำกล่าวอยู่เนืองๆว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว เป็นกลางวางทีเฉย
อุเบกขา จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการเจตนาขึ้นเท่านั้น จึงต้องหมั่นสั่งสมอบรมปฏิบัติ ไม่ใช่การวางใจเป็นกลางชนิดที่ต้องทําใจเป็นกลางเฉยๆ ชนิดจะไม่ให้รู้สึกรู้สาต่อทุกขเวทนา,สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ อยากจะไม่ให้มีทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจใดๆมากระทบได้ เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยอวิชชา อันอาจกระทําได้แค่เป็นครั้งคราวด้วยฌาน,สมาธิเท่านั้น อันยังเป็นเพียงโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้) และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) เพราะตามความเป็นจริงแล้วทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่เป็นธรรมดาแม้ในองค์พระอริยเจ้า แต่ท่านเหล่านี้ไม่มีอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ ๕, จึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ แล้วจึงปล่อยวาง หรือทําใจเป็นอุเบกขา กล่าวคือรู้ตามความเป็นจริงแล้ว รู้สึก(เวทนา)อย่างไร ก็เป็นเยี่ยงนั้นนั่นเอง แต่ต้องเข้มแข็ง ไม่คิดนึกปรุงแต่งด้วยการไม่เอนเอียงหรือแทรกแซงไปด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ ทั้งในทางดีหรือชั่ว(ทางร้าย), อุเบกขาจึงไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนาหรือที่บางทีเรียกกันว่าอุเบกขาเวทนา อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วไปยึดไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอุเบกขา, อันอุเบกขาเวทนานั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดการรับรู้ขึ้นจากการผัสสะเป็นธรรมดา กล่าวคือเป็นไปโดยสภาวธรรมชาติ อย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรม ส่วนการอุเบกขาหรือตัตรมัชฌัตตตาเป็นสังขารขันธ์จึงต้องมีสัญเจตนาหรือเจตนาขึ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมด้วยความเพียรยิ่ง จนสามารถกระทำอุเบกขานั้นเป็นมหาสติ กล่าวคือ กระทำเองโดยอัติโนมัติ เป็นเฉกเช่นสังขารในปฏิจจสมุปบาท แต่ปราศจากเสียซึ่งอวิชชา (มีรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง อุเบกขา)
โพชฌงค์ ๗ จึงล้วนเป็นธรรมเหล่าใดที่บุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้เกิดวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
หรือถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์นั่นเอง
ที่มีจิตคือสติรู้เท่าทันในกาย เวทนา จิต และธรรมอยู่เนืองๆ กล่าวคือปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนให้ถึงซึ่งโพชฌงค์ ๗
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้
บริบูรณ์ได้, ดังนี้.
(หมายเหตุผู้รวบรวม พระสูตรที่ทรงตรัสเหมือนกันกับพระสูตร
ข้างบนนี้ ยังมีอีกคือ ปฐมอานันทสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๗-๔๒๓/๑๓๘๑ -
๑๓๙๘. ทุติยอานันทสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๓-๔๒๔/๑๓๙๙ - ๑๔๐๑.
ทุติยภิกขุสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๕/๑๔๐๔ - ๑๔๐๕.)
หมายเหตุ
วิราคะ (ความจางคลาย) นิโรธ (ความดับ) โวสสัคคะ (ความสละ, ความปล่อย);