สถูปซานจี อโศกมหาราช และกรีก
พระพุทธเจ้าไม่เคยเสด็จมาที่เมืองซานจี ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่สถูปที่เมืองซานจีก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งในอินเดีย แต่คนไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้จักสถานแห่งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสังเวชนียสถาน 4 ตำบล สถานที่ประสูตีที่ลุมพินีปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล ตรัสรู้ในพุทธคยา ปฐมเทศนาในพาราณสี และปรินิพพาน ในกุสินารา ซึ่ง 3 แห่งหลังนี้อยู่ในประเทศอินเดีย
แต่สถูปซานจี ในรัฐมธยมประเทศ ทางตอนกลางของอินเดีย นั้นสำคัญตรงที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธในชมพูทวีป สถูปแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณกว่า 200 ปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน อโศกมหาราชใช้เก็บพระบรมสารีริกธาตุด้วย แต่เหตุผลสำคัญที่สร้างส่วนหนึ่งก็เพราะเมืองซานจีนี้เป็นบ้านเกิดของมหารานี เทวี มเหสีองค์หนึ่งของอโศก ผู้ให้กำเนิดโอรสและธิดาแก่พระองค์ และพระโอรสมหินทรานั้นอโศกโปรดให้ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในลังกาและกลายมาเป็นพุทธศาสนาลังกาวงศ์ให้คนไทยได้นับถือมาจนทุกวันนี้
ความเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้านั้นก็มีอยู่แต่เพียงว่า สถูปองค์ที่สามบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (ไกด์ชาวอินเดียบอกว่าเป็นร่าง) ของอัครสาวกซ้ายขวา คือพระโมคลานะและพระสารีบุตรอยู่ในนั้น ทำไมถึงรู้ว่าเป็นของทั้งสององค์ ไกด์บอกว่า มีอักษรภาษาบาลีเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน หลังการขุดค้นชาวอังกฤษได้เอาไปเก็บไว้ที่ลอนดอลอยู่พักใหญ่ ก่อนจะส่งคืนมาอินเดีย ทุกวันนี้ก็ยังเก็บเอาไว้ที่วิหารหลังหนึ่งใกล้สถูปแห่งนี้ ทว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้เพียงปีละครั้งคือวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น
สถูปแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นสถานที่ทางพุทธศาสนาที่ไม่มีชีวิต เพราะไม่มีวัด ไม่มีพระ หรือชาวพุทธอื่นใดอยู่ที่นี่ ชาวพุทธที่ไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้อาจจะกราบไหว้ได้ แต่ห้ามนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา อีกอย่างหนึ่งศาสนาพุทธนั้นแม้จะถือกำเนิดในอินเดียก็จริง แต่ปัจจุบันมีชาวพุทธในอินเดียเหลืออยู่น้อยมาก ในซานจีนี้อาจจะมีประมาณ 50 คนเห็นจะได้ แต่ก็เป็นพุทธใหม่ ซึ่งเพิ่งประกาศกันมาสัก 50 ปีเศษๆมานี่เอง ไม่เหมือนพุทธในลังกาหรือประเทศไทย ชาวพุทธทั่วไปอาจจะไม่ยอมรับว่านั่นเป็นลัทธิหนึ่งในศาสนาพุทธด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มองในมุมศาสนา สถูปซานจีก็มีความน่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอยู่ไม่น้อยกล่าวคือ สถาปัตยกรรมในแบบกรีกซึ่งยุคอโศกนั้นจัดได้ว่ารับอิทธิพลกรีกมามาก พระพุทธรูปบางองค์ในสถูปแห่งนี้หน้าตาออกไปทางเทพของกรีกมากกว่าจะเป็นแขก อาคารบางหลังเป็นแบบกรีก มากกว่าอินเดีย