ตำนาน "นางกวัก"
นางกวัก เป็นที่ทราบกันดีว่านางกวักคือรูปปั้นที่มักถูกวางไว้หน้าร้าน และพ่อค้าแม่ขายมีไว้เพื่อกราบไหว้บูชา โดยหวังให้กิจการค้าของตนเจริญรุ่งเรือง
โดยนางกวักมีชื่อจริงว่า สุภาวดี มีบิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ ส่วนมารดาชื่อ สุมณฑา นางเป็นคนเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี ครอบครัวของนางมีอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อต้องการจะขยายกิจการ จึงไปซื้อเกวียนมา 1 เล่ม และสินค้าไปขึ้นเกวียนเพื่อไปเร่ขายตามถิ่นต่างๆ ซึ่งนางสุภาวดี ก็ขออนุญาตบิดาเดินทางตามไปด้วยในบางครั้ง เพื่อหวังเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย
ระหว่างเดินทางไปค้าขาย นางสุภาวดีได้พบกับ “พระกัสสปเถระเจ้า” ผู้เป็นอริยสงฆ์ เมื่อนางได้รับฟังธรรมเทศนาจากพระกัสสปเถระเจ้า พระกัสสปเถระเจ้าก็ได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้ครอบครัวของนางสุภาวดีในทุกครั้งที่นางได้มีโอกาสไปฟังธรรม
ต่อมา นางสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาของตนไปทำการค้าอีก และได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” ด้วยความตั้งใจ จึงทำให้นางสุภาวดีมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ และเนื่องจากพระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น กล่าวคือ ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์มารดายาวนานถึง 7 ปี 7 เดือน และเมื่อคลอดออกมาก็พร้อมไปด้วยวาสนาและบารมีที่ติดตัวมากับวิญญาณธาตุของท่าน พระสิวลีท่านจึงเป็นผู้ที่มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอดในทุกคราวที่ต้องการ และเมื่อนางสุภาวดีมาฟังธรรมบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจ พระสิวลีเถระเจ้าจึงได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้แก่ครอบครัวของนางสุภาวดี
เมื่อจิตของนางสุภาวดีได้รับการประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆสมความปรารถนาเถิด” จึงส่งผลให้บิดาทำการค้าเจริญรุ่งเรือง และได้กำไรอย่างไม่เคยขาดทุน
เมื่อบิดารู้ว่า นางสุภาวดีคือต้นเหตุแห่งความเป็นมงคลนี้ และทำให้ครอบครัวมีเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย จนกลายเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี พร้อมด้วยเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบเท่ากับธนัญชัยเศรษฐี ผูเป็นบิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของนางสุภาวดีจึงได้หมั่นฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และ ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธาสืบมา
เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตลง ชาวบ้านจึงปั้นรูปปั้นของแม่นางสุภาวดีขึ้น เพื่อไว้บูชาเพื่อขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อเรื่องนี้ได้ถูกแพร่หลายข้ามประเทศเข้ามายังสุวรรณภูมิ และยังคงเป็นความเชื่อที่พ่อค้าแม้ค้าทั้งหลายยังคงศรัทธาสืบมาจนถึงทุกวันนี้