ไขมันทรานส์ อันตรายยังไง ทำไม อเมริกาถึงเลิกใช้??
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.2013 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ประกาศเลิกใช้ “ไขมันทรานส์” ในอาหารที่มีขายโดยทั่วไปทั้งประเทศ ทำให้ไขมันทรานส์ได้รับความสนใจขึ้นมามาก ซึ่งขณะนี้บริษัทอาหารจานด่วนยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์และดังกิ้นโดนัทก็ได้เริ่มทำการเปลี่ยนสูตรอาหารไร้ ไขมันทรานส์ กันแล้ว
ไขมันทรานส์ คือ ไขมันที่ผ่านกระบวนการเพิ่มอะตอมไฮโดรเจนเข้าไปในโมเลกุล ทำให้คุณสมบัติของไขมันเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็ง มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมเสีย เหม็นหืนช้าลง ดังนั้นอาหารที่มีส่วนผสมของ ไขมันทรานส์ จึงเก็บได้นานขึ้นและมีความเป็นมันย่องน้อยลง มีรสชาติดี ไม่เละ และมีความนุ่มนวลมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารจึงนิยมใช้ผสมในอาหารและขนม เช่น มาร์การีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม เป็นต้น โดยวัตถุดิบเหล่านี้จะมีชื่อบนฉลากอาหาร คือ กรดไขมันชนิดทรานส์ หรือ Hydrogenated Oil หรือ Partially Hydrogenated Oil
ประโยชน์ของ ไขมันทรานส์
เนื่องจาก ไขมันทรานส์ คือไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข และสามารถทนความร้อนได้สูง รวมถึงมีรสชาดที่ใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่าง ๆ มักนิยมนำ ไขมันทรานส์ มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม และวิปปิ้งครีม เป็นต้น
ผลร้ายจาก ไขมันทรานส์
หลังจากคนเราบริโภคไขมันทรานส์มานาน ก็ได้มีการศึกษามากมายแสดงผลเสียของมันต่อสุขภาพ กรมควบคุมและป้องกันโรคอเมริกันได้ประเมินว่า ในแต่ละปีไขมันทรานส์มีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 20,000 ราย และมีการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจ 7,000 ราย จากสถิติที่สูงแน่ชัดอย่างนี้ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาต้องออกมาประกาศว่าไขมันทรานส์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกต่อไป ภัตตาคารต่างๆ ที่มักจะใช้ไขมันทรานส์ในการทอดอาหาร เมื่อมีกฎห้ามใช้ก็จำเป็นต้องหาน้ำมันอย่างอื่นมาใช้แทน ที่สหรัฐอเมริกาสามารถบังคับใช้กฎหมายแบบนั้นได้ แต่เมืองไทยคงยาก เราต้องค่อยๆ ปรับตัวตามเขาไปกินในสิ่งที่ดีกว่า
ในบรรดาไขมันที่เราบริโภคทั้งหลาย ไขมันทรานส์ (ทางเคมีเรียกว่า กรดไขมันทรานส์) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า trans fat หรือ trans fatty acid เป็นไขมันตัวร้ายที่สุด เนื่องจากมีความแตกต่างจากไขมันตัวอื่นตรงที่เมื่อกินเข้าไปแล้วจะเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวร้าย หรือ LDL cholesterol และลดระดับคอเลสเตอรอลตัวดีคือ HDL cholesterol สองอย่างนี้ทำให้เกิดการพอกพูนของตะกรันคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือด อาจจะเรียกได้ว่าร้ายยกกำลังสอง (กว่าไขมันตัวอื่น) ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ตีบตัน ส่งผลให้อวัยวะที่หลอดเลือดนั้นนำเลือดไปเลี้ยงขาดเลือดขาดออกซิเจน เช่น หัวใจขาดเลือด (หัวใจวาย) สมองขาดเลือด (เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์) หรือไตขาดเลือด (ไตวาย) ฯลฯ
ในหลายกรณีตะกรันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดมักหลุดลอกทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน หรือในกรณีหลอดเลือดในสมองก็เกิดอาการทางสมองเฉียบพลัน เช่น ปากเบี้ยว แขนอ่อนแรงเฉียบพลัน นอกจากไขมันทรานส์จะทำให้คอเลสเตอรอลตัวร้ายสูงขึ้นแล้ว ยังมีผลเสียอื่นคือทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งมีผลเสียต่อหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวตีบตันได้เช่นกัน
เลือกกินอย่างไรให้ปลอดภัย
สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คืออ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีกฎให้อุตสาหกรรมอาหารต้องมีฉลากติดข้างกล่องระบุว่าอาหารมีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีไขมันทรานส์เท่าไหร่ การอ่านฉลากต้องมีความเข้าใจศัพท์พอสมควร เช่น
No trans fat ไม่ได้หมายความว่าไม่มีไขมันทรานส์เลย อาจหมายความว่ามีไขมันทรานส์ 0.5 กรัม เพราะเขาอนุญาตให้ติดฉลาด no trans fat ได้ถ้าจำนวนไขมันทรานส์ต่ำกว่า 0.5 กรัม ดังนั้นถ้าเรากินมันเข้าไปมากก็จะได้ไขมันทรานส์มาก
Partially hydrogenated oil ก็หมายถึง ไขมันทรานส์นั่นเอง
Fully หรือ completely hydrogenated fat ไม่ใช่ไขมันทรานส์ แต่จะเปลี่ยนเป็นไขมันชนิดอิ่มตัวแทน
Hydrogenated fat อาจจะมี ไขมันทรานส์ อยู่ด้วย ผู้บริโภคที่ฉลาดจึงต้องมีความรู้และอ่านฉลากให้เป็น
อนึ่งไม่ใช่ ไขมันทรานส์ อย่างเดียวที่เราต้องหลีกเลี่ยง ไขมันอิ่มตัวทั้งหลายที่เมื่อกินเข้าไปแล้วจะกลายเป็นคอเลสเตอรอลเราก็ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินไขมันอิ่มตัวมาก ไขมันอิ่มตัวภาษาอังกฤษเรียกว่า saturated fat (เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู หนังไก่ หนังเป็ด คอหมู ฯลฯ ) ควรเลือกกินไขมันตรงข้ามคือไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) ได้แก่ น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย ฯลฯ
ไขมันที่ดีๆ ที่ควรรู้มีอีกอย่างหนึ่งคือ น้ำมันปลา ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่มาก สารตัวนี้ทำให้ไขมันร้าย ไตรกลีเซอไรด์ลดลง อีกอย่างหนึ่งที่ควรใส่ใจคือ การจงใจกินคอเลสเตอรอล เช่น ไข่แดง (เพราะความอร่อย) มันก็จะไปกลายเป็นคอเลสเตอรอลในเลือดแน่นอน สำหรับคนที่คอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูงจึงควร (ใช้สามัญสำนึก) หลีกเลี่ยง สำหรับคนที่ระดับคอเลสเตอรอลต่ำกินวันละ 1 ฟองไม่เป็นไร
ถึงตอนนี้ จะพูดว่าไขมันทรานส์ ได้กลายเป็นศัตรูตัวร้ายอันดับต้นๆ ของคนรักสุขภาพทั่วโลกก็ว่าได้นะคะ อย่างในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการระบุปริมาณไขมันทรานส์ บนฉลากโภชนาการ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์
นอกจากนี้ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น นิวยอร์กได้ออกมาประกาศว่าจะเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่ปลอด ไขมันทรานส์ โดยออกมาตรการให้บรรดาร้านอาหาร ภัตตาคาร และผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งหลาย ค่อยๆ ลดการใช้ไขมันชนิดนี้ในการปรุงอาหาร และหยุดใช้โดยเด็ดขาดทั่วทั้งนิวยอร์กภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา แต่น่าเสียใจสำหรับคนไทย เพราะบ้านเรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมาย มาควบคุมการใช้หรือบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ
ผู้บริโภคที่ใส่ใจและรักสุขภาพ จึงควรดูแลตนเอง โดยระมัดระวังเรื่องทานอาหาร หลีกเลี่ยงที่มีปริมาณ ไขมันทรานส์ เยอะ เช่น อาหารประเภทของทอด (ไก่ทอด, เฟรนซ์ฟรายส์ , นักเก็ต) ซึ่งมักใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ จนหนืด รวมทั้งแฮมเบอเกอร์ หรือขนมขบเคี้ยวที่เก็บไว้นานๆ แต่ก็ยังกรุบกรอบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาวและมาร์การีน อาทิ คุ้กกี้ พาย พัฟ หรือขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งด้วย
ทราบอย่างนี้แล้วก็ ปรับรูปแบบการทานกันใหม่นะคะ ใครที่ชอบทานกลุ่มอาหารดังที่ได้กล่าวมา ก็ควรจะค่อยๆ ปรับและลดปริมาณลง ใส่ใจกับการเลือกรับประทานกันดีกว่า เพื่อสุขภาพของเราเอง และคนที่เรารัก อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ