ไข่เน่า..สุดยอดสมุนไพรบำรุงสมอง!!
ได้ยินชื่อ ไข่เน่า อาจจะคิดว่าสมุนไพรชนิดนี้คงจะมีกลิ่นเหม็นแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นสมุนไพรที่มีดอกหอม และเต็มไปด้วยสรรพคุณที่ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกัน
ไข่เน่า" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex glabrata R. Br. อยู่ในวงศ์ Verbenaceaa มีชื่อตามท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ขี้เห็น (เลย อุบลราชธานี) ปลู (เขมร-สุรินทร์) คมขวาน ฝรั่งโคก (ภาคกลาง) เป็นต้น ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด
ไข่เน่า เป็นพรรณไม้ยืนต้น มีทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-12 เมตร ลำต้นเกลี้ยงเป็นสีหม่นและมีด่างเป็นดวงขาว ๆ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ มีสีเขียวเข้ม คล้ายงิ้ว มีขนาดไม่เท่ากัน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนโคนใบขอบแหลมหรือมน ขนาดของใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยงมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนสั้นอยู่ประปราย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบจะยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร
ดอกไข่เน่า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีม่วงอ่อน หรือสีม่วงอมชมพู สีขาวมีแดงเรื่อ ๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดกว้าง และมีขนละเอียดที่ดอก
ส่วนผลไข่เน่า หรือลูกไข่เน่า มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร
ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ มีเนื้ออ่อนนุ่ม รสหวานอมเปรี้ยวและเหม็น เมล็ดมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย
กล่าวว่า "ไข่เน่า" เป็นผลไม้บำรุงสมองบำรุงสุขภาพของคนภาคกลาง โดยไข่เน่าจะมีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งกำลังมีงานวิจัยในญี่ปุ่นและอินเดียว่าช่วยบำรุงสมองและกระดูกได้ เนื่องจากช่วยให้หลอดเลือดไหลเวียนดี จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องโรคซางในเด็กที่ผอมแห้งแรงน้อย ช่วยให้เจริญอาหาร แต่ปัจจุบันต้นไข่เน่าในประเทศไทยมีน้อย และการเพาะปลูกต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี จึงจะออกผล ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกำลังนำไปอนุรักษ์และเพาะปลูก
สรรพคุณทางสมุนไพรของไข่เน่า
ผล อุดมไปด้วยแคลเซียม ใช้กิน ช่วยบำรุงกระดูก บำรุงสมอง แก้โรคกระดูกผุสำหรับผู้สูงอายุได้ดี ผลสุก มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยในระบบขับถ่ายบำรุงระบบเพศ บำรุงไต
เปลือกต้น ช่วยรักษาพิษตาน ซาง แก้ไข้ แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง ขับพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร เปลือกต้นไข่เน่ามีสารจำพวกสตีรอยด์ (steroid) ที่มีชื่อว่า sitosterol ecdysterone และ anguside (p-hydroxybenzoic ester of aucubin) หมอยาโบราณนิยมใช้เปลือกต้นไข่เน่า มาต้มรวมกับรากเต่าให้ เพื่อปรุงเป็นยารักษาโรคซางในเด็ก
ราก ช่วยรักษาอาการท้องร่วง ใช้ขับพยาธิไส้เดือน
เปลือกผล ช่วยรักษาโรคกระเพาะ หรือโรคลำไส้อักเสบของเด็กทารก
ต้น ช่วยแก้เลือดตกค้าง
ผล เปลือกผล ช่วยแก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา
ราก เปลือกต้น มีรสฝาด ช่วยแก้อาการท้องเสีย แก้บิด ทำให้เจริญอาหาร
ราก เปลือกต้น ผล ช่วยแก้ตานขโมย (โรคพยาธิในเด็ก ที่มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผอมแห้ง ซูบซีด มีอาการท้องเดิน ก้นปอด)
ประโยชน์ของไข่เน่า
ผลสุกของไข่เน่า ใช้กินสดเป็นผลไม้ มีรสหวานเอียนไม่อร่อยนัก หากใส่เกลือป่นหรือจิ้มเกลือก็จะทำให้มีรสชาติดีขึ้น อาจคลุกเคล้ากับเกลือแล้วนำไปผึ่งแดดเก็บไว้กิน หรือจะกินแบบสด ๆ หรือนำไปดองน้ำเกลือก็ได้เช่นกัน
ผลไข่เน่า สามารถนำไปทำเป็น "ขนมไข่เน่า" ได้ ซึ่งวิธีการทำจะคล้ายกับการทำขนมกล้วย แต่เปลี่ยนจากกล้วยเป็นไข่เน่า ด้วยการหยอดใส่ใบตองทรงกรวยแหลม แล้วเอามะพร้าวขูดโรยหน้าก่อนจะนำไปนึ่ง
ต้นไข่เน่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี เป็นไม้ที่น่าปลูกสะสม เพราะปัจจุบันเริ่มหายากลงทุกที โดยนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นร่มเงาเนื่องจากเป็นไม้ไม่ผลัดใบ
เนื้อไม้ มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้