ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนพยายามรักษาวัฒนธรรมของตนหลังเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม
ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนกำลังเผชิญการเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลมาเลเซียที่พยายามบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนไปใช้ชื่อภาษาอาหรับหรือชื่อแบบมาเลย์ เมื่อเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็พยายามรักษาวัฒนธรรมจีนของตนเอาไว้
ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน 2 คน คือ เทาฟิค ฟุย เหล่ย เหลียง และ สวี เกียง ติง ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยมูฮัมหมัด เทาฟิค ตัดสินใจเพิ่มชื่อภาษาอาหรับไว้หน้าชื่อเดิมของเขา ขณะที่สวีเลือกที่จะใช้ชื่อเดิม แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในมาเลเซียจะมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามจะทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นชาวมาเลย์เต็มตัว แต่หากยังไม่เปลี่ยนชื่อก็ยังจะถูกมองว่าเป็นคนจีนอยู่ดีก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่ต้องการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
แม้จะไม่มีกฎที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าบุคคลที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามจะต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออาหรับหรือชื่อมาเลย์ แต่คนส่วนใหญ่กลับยึดธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2518 ขณะที่รัฐบาลก็ให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เปลี่ยนนามสกุลเป็น “อับดุลเลาะห์” เมื่อเปลี่ยนศาสนา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิก
มะละกา ลิม จอย ซุน เจ้าหน้าที่สมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม บอกว่า ธรรมเนียมการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวยังคงถูดยึดปฏิบัติจากองค์กรศาสนาในหลายรัฐของมาเลเซีย และถือเป็นเรื่องที่โง่เขลา เพราะหากย้อนดูที่ประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าศาสดามูฮัมหมัด ไม่ได้ทรงขอให้ผู้คนเปลี่ยนชื่อหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เพราะต้องการให้คนเหล่านั้นยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนในสังคม ซึ่งตัวเขาเองถือเป็นบุคคลแรกที่ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อภายหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เพราะเขาคิดว่า การเก็บชื่อจีนไว้ถือเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่วงศ์ตระกูล และการละทิ้งนามสกุลเดิมก็ทำให้รู้สึกเหมือนว่าตัวเองไม่มีความเกี่ยวพันกับครอบครัวอีกต่อไป นอกจากนี้เขายังต้องการแสดงให้ผู้คนเห็นว่า อิสลามเป็นศาสนาสากล ไม่ใช่ศาสนาของชาวอาหรับ หรือชาวมาเลย์เท่านั้น
ส่วนในเรื่องวัฒนธรรมนั้น นูร์ คาเรน ชุง ยอค ลัน บอกว่า คนมาเลเซียเชื้อสายจีนยังคงเฉลิมฉลองงานเทศกาลต่างๆ ตามวัฒนธรรมจีนได้แม้จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม เพราะเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และเทศกาลตรุษจีนนั้นไม่ใช่การเฉลิมฉลองทางศาสนา และไม่ขัดต่อกฎหมายอิสลามแต่อย่างใด
ภาพประกอบ - ภาพสอง นูร์ คาเรน ชุง ยอค ลัน