เสียงกลอง - ระฆังในวัด สื่อสารอะไรบ้าง
ในสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญอย่างในปัจจุบันนี้ นาฬิกามักจะมีเฉพาะตามวัดเท่านั้น พระท่านก็ต้องตีกลองหรือฆ้องระฆัง เป็นสัญญาณบอกให้ทราบเวลาเป็นระยะๆ ไป เช่น ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ตามวัดต่างๆ ในชนบทท่านมักจะ “ย่ำกลอง” หรือ “ย่ำฆ้อง” “ย่ำระฆัง” เพื่อบอกเวลาให้ชาวบ้านรู้
ด้วยเหตุที่ทุกวันนี้ชาวบ้านมักมีนาฬิกาใช้กันทั่วไปแล้ว การย่ำกลอง ย่ำฆ้อง หรือย่ำระฆัง ในปัจจุบันจึงชักค่อยๆ หมดไป แต่ก็ยังคงพอได้ยินเสียงกลองเพล เสียงระฆัง รวมทั้งเสียง “ย่ำกลองย่ำฆ้อง” อยู่บ้างจากวัดใน จ.นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา
พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ "เจ้าคุณพิพิธ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม บอกว่า เสียงกลองจากวัดที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู คือ
- การตีกลองเพล เวลา ๑๑.๐๐ น. เพื่อบอกเวลาฉันเพล ทั้งนี้จะตีโดยใช้ไม้เดียว ๓ ลา (ลา มาจากการรัวกลองหรือระฆังจนข้อมือล้า) จากช้าไปเร็วสุด จบด้วยการตี ๓ ครั้ง ส่วนเสียงระฆังนั้นหลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ยินเท่าไรนัก โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง
การตีระฆัง
ถ้าเป็นช่วงในพรรษาจะมีการตีระฆังในช่วงเช้ามืดทุกวัน เวลาประมาณ ๐๔.๐๐-๐๔.๓๐ น. โดยจะตี ๓ ลา และจะตีนานถึง ๓๐ นาที เพื่อปลุกพระให้ตื่นจากการจำวัด เพื่อลงประชุมทำวัตรสวดมนต์เช้ามืด เป็นการกำจัดกิเลส ทำตนให้เป็นเขตนาบุญ เมื่อออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมในเวลาเช้า โยมจะได้บุญมากๆ จะมีผลต่อความเจริญของผู้ในบาตร ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาเตรียมกับข้าวกับปลาใส่บาตร
อย่างไรก็ตาม การตีระฆังจะมีการตีอีก ๒ ช่วงเวลา เพื่อสวดมนต์ทำวัตร คือ ครั้งแรก ตีประมาณ ๐๘.๐๐ น. เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงทำวัตรเช้า และตีอีกครั้งหนึ่งเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น จะตี ๓ ลา ทั้งนี้จะใช้เวลาตีไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที เพื่อส่งสัญญาณให้พระลงประชุมทำวัตรเย็น เหตุที่ใช้เวลาตีนานต่างกัน เพราะตอนเช้ามืดพระท่านง่วง กลัวจะนอนเพลินไป ไม่ได้ลุกขึ้นทำวัตรเช้ามืด ส่วนตอนเย็นพระท่านตื่นอยู่แล้ว
สำหรับความพิเศษของการตีกลองตีระฆังส่งสัญญาณการทำวัตรนั้น เจ้าคุณพิพิธ บอกว่า ต้องยกให้ การตีกลองตีระฆังย่ำคำ กล่าวคือ ในช่วงพรรษา เมื่อทำวัตรเย็นจบแล้ว ประมาณ ๑๗.๓๐-๑๘.๐๐ น. จะมีการตีกลองย่ำค่ำ ซึ่งเป็นการตีกลองและระฆังประสานเสียงกัน โดยตีกลอง ๔ ครั้ง (ตะ-ลุ่ม-ตุ่ม-ตุ่ม) ทั้งนี้จะตีระฆังพร้อมๆ กับกลองในจังหวะตุ่มสุดท้ายพร้อมกัน จากนั้นก็จะเร่งจังหวะเร็วขึ้น ต่างรูปต่างรัวจนรัวไม่ไหว จึงเป็นอันว่าเสร็จ ๑ ลา และจะต้องตีเช่นนี้อีก ๒ ลา รวมเป็น ๓ ลา และทิ้งท้ายอีก ๓ ครั้ง เป็นการประกาศชัยชนะกิเลสของพระวัดนั้นๆ โดยผู้ที่อยู่ทางบ้าน หรือไกลออกไป เมื่อได้ยินเสียงกลองย่ำค่ำ ก็จะยกมือขึ้นประนมจบศีรษะอนุโมทนาบุญ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการตีกลองและระฆังอีก ๒ เรื่อง คือ
๑. ตีเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในวัด เช่น ไฟไหม้ โจรปล้น พระภิกษุมรณภาพ หรือต้องอาบัติหนักถึงขั้นปาราชิก ทั้งนี้ จังหวะการตีกลองระฆังไม่เป็นจังหวะเหมือนย่ำค่ำ จะเป็นการตีรัวทั้งกลองและระฆัง เมื่อชาวบ้านได้ยินก็จะรีบออกไปที่วัดทันที
๒. ตีเมื่อเกิดจันทรคราส และสุริยคราส ก็จะตีกลองระฆัง แต่ใช้การตีแบบจังหวะย่ำหรือลีลาย่ำค่ำ จนกว่าจันทรคราส และสุริยคราสจะคลาย อันนี้ต้องใช้พระเณรหลายรูป ส่วนใหญ่ก็จะตีกันจนมือพอง ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็จะตีปี๊บ ตีเกราะ เคาะไม้ เพื่อให้พระราหูคลายจากการอมพระอาทิตย์ พระจันทร์ อีกคติหนึ่งเนื่องจากพระเป็นโหราจารย์ คำนวณสุริยจักรวาลได้ เช่นเดียวกับ ร.๔ เป็นการส่งสัญญาณให้ชาวบ้านดูท้องฟ้า
"สมเด็จพระญาณวโรดม อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กทม.ท่านเคยอบรมพระเณรที่เรียน มมร. ว่า พระเณรเดี๋ยวนี้ละเลยไม่ศึกษาวิถีพุทธวิถีไทย เรื่องตีกลองตีระฆัง บางรูปขึ้นไปบนหอระฆังได้คว้าไม้ตีระฆัง ก็ตีระจ่ำเอ้า จำเอา ตี ๓ ลา ไม่ถึง ๕ นาที หมาอ้าปากจะหอนสักหน่อยก็ตีจบซะแล้ว ส่วนบางรูปก็ตีอ้อยสร้อย หมาหอนจะขาตะไกค้างก็ยังตีไม่จบ นี่เป็นการแสดงความห่วงใยกระตุ้นให้พระเณรได้ศึกษา และรักษาวิถีพุทธวิถีไทย และวัฒนธรรมทางศาสนา" เจ้าคุณพิพิธ กล่าว
ประเพณีตีกลองของภาคอีสาน
ประเพณีตีกลองเดิก (ดึก) กลองดึก คือ กลองตีสัญญาตอนเวลาประมาณ ๐๓.๐๐-๐๔.๐๐ น. เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ประชาชนรู้ว่า ถึงวันโกนวันพระ (ขึ้นหรือแรม ๗-๘-๑๔ และ ๑๕) แล้ว ให้งดเว้นสิ่งที่ควรงด ตื่นขึ้นมาสมาทานศีล ไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนา กลองดึกนี้เป็นสัญญาณเตือนก่อนตื่นนอน เพื่อให้ลุกขึ้นประกอบกรรมดีแต่เช้า กลางวันจะตั้งใจทำอะไรดีก็จะเตรียมตัวไว้แต่เช้า และจะไปบำเพ็ญความดีทั้งวันในวันโกนวันพระทั้งสองวัน เพื่อเตือนพระภิกษุสงฆ์ และญาติโยมว่า เป็นวันพระที่จะต้องทำกิจทางพระพุทธศาสนา
ส่วนประเพณีตีกลองแลง คือ การตีกลองสัญญาณในตอนเย็น เพราะคำว่า แลง หมายถึง ช่วงตอนเย็นเป็นเวลาระหว่างเวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๓๐ น. จะตีกันในวันโกนวันพระขึ้นและแรม ในวันขึ้น ๘, ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน เมื่อถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. จะมีการตีกลองแลง วันดังกล่าวเป็นวันพระ พระภิกษุสามเณรจะหยุดการศึกษาเล่าเรียน จะซักสบง จีวร ปัดกวาดบริเวณวัดให้สะอาด ลงฟังเทศน์ในวันพระ สำหรับญาติโยมจะหยุดพักงานมาทำบุญรักษาศีลฟังเทศน์ การตีกลองแลงจะมีเฉพาะในพรรษาเท่านั้น
ในขณะที่ประเพณีตีกลองงัน คือ การตีกลองเวลาค่ำคืนประมาณ ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. ซึ่งจะตีทุกวันในช่วงเข้าพรรษา จุดมุ่งหมายของการตี นอกจากจะเป็นการรักษาประเพณีในช่วงเข้าพรรษาเอาไว้แล้ว ยังเป็นการให้สัญญาแก่คนหนุ่มสาวไปร่วมกันที่บริเวณวัด ซึ่งเรียกว่า ลงวัด เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ดายหญ้า ฝึกร้องสารภัญ เป็นต้น
ในสมัยก่อน จะมีการตีกลองงัน บรรดาชายหนุ่มหญิงสาว จะนำเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู บุหรี่ ไปถวายวัด แล้วพากันทำวัตรค่ำ รับศีลฟังเทศน์ หากมีเวลาก็จะหันสรภัญญ์ หรืออบรมศีลธรรมพอสมควร
ประเพณีตีกลองของภาคเหนือ
กลองปูจา (บูชา)
+ เป็นกลองที่มีมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว เดิมใช้เป็นกลองประจำเมืองด้วย เรียก "นันทเภรี" หรือกลองอุ่ม (อุ่น) เมือง ใช้ตีบอกเหตุ เช่น ข่าวศึก และใช้ประจำวัดเช่นเดียวกับปัจจุบัน การเทียบเสียง ไม่มีการเทียบเสียง แต่ถ่วงหน้าให้กังวาน ด้วยข้าวเหนียวบดขี้เถ้า เรียกว่า ขี้จ่า
+ เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น เต็งรัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐๐ - ๑๒๐ ซม. ยาว ๒๐๐ ซม. เจาะทะลวงถึงกัน หุ้มหน้าด้วยหนังวัว หนังกวางดีงให้ตึงด้วยเชือกหนัง มีกลองรูปร่างอย่างเดียวกันขนาดเล็กๆ สองลูก ติดไว้ส่วนบนตามแนวนอนเรียกว่าลูกตุ้ม กลองปูจาตีด้วยไม้มีลีลาการตีที่สวยงามหลายท่า
โอกาสที่บรรเลง
ตีในวันโกนเพื่อบอกให้ทราบว่า รุ่งขึ้นเป็นวันพระ ให้เตรียมทำบุญ ตีเป็นพุทธบูชาในวัน ๑๕ ค่ำ ตีในเทศกาลของงานวัด ปอยหลวง ตีเพื่อเรียกประชุม
เนื่องจากการตีกลองปูจานี้ มักจะใช้ในโอกาสแจ้งข่าวจากวัด ผู้ที่ชำนาญในการตี จึงมักจะเป็นพระ เณร ในวัด
http://swis.act.ac.th/html_edu/cgi-bin/act/main_php/print_informed.php?id_count_inform=2744