มุมมองน้องเยาวชน มศว. สะท้อนเหตุใด 'นาฏศิลป์ไทย' จึงมีความสำคัญ
ช่วงนี้จะเห็นคนในแวดวงการเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์ ออกมาแสดงความเป็นห่วงที่ร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ไม่มีรายวิชานาฏศิลป์ วันนี้น้องๆ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว จึงออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมุมมองในเรื่องวิชานาฏศิลป์ ที่กว้างกว่าเดิม
นางสาวพิชรินทร์ ช่วยเฟ้ง “พลีส” นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาศิลปะการแสดงศึกษา บอกเล่าด้วยความมั่นใจว่า เลือกเรียนสาขานี้เพราะอยากเป็นครูนาฏศิลป์ มีความรักความผูกพันในวิชานี้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณยายสอนฟ้อนทำให้เกิดความรักความผูกพันในวิชานาฏศิลป์ แม้ตัวเองจะเรียนโรงเรียนสายสามัญ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์) ก็ไม่เคยทิ้งการเรียนนาฏศิลป์เลย
“วิชานาฏศิลป์ไม่ได้สอนให้ผู้เรียนแต่งตัวสวยสวยแล้วแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวเพียงแค่นั้น หากแต่ความรู้ด้านการเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วน ทำให้เกิดความสมดุลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง ทุกๆ อิริยาบท นอกจากนี้นาฏศิลป์ยังทำให้ผู้เรียนทุกคนมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนมีเสน่ท์ เพราะรู้กาลเทศะ อ่อนน้อมถ่อมตน ใครเห็นจะเอ็นดู การเรียนนาฏศิลป์จึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมากกว่าการได้แต่งตัวสวยงามและแสดงอยู่หน้าเวที”
การเรียนวิชานาฏศิลป์เป็นวิชาบังคับในระดับประถมและมัธยมถือเป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างน้อยในความเป็นไทยที่บอกผ่านการแสดง นาฏศิลป์ไทยนั้น เยาวชนได้เรียนรู้ ซึมซับความเป็นไทยได้ในช่วงวัยที่มีโอกาสเรียน เพราะเมื่อโตไปแล้ว เด็กบางคนก็ไม่มีโอกาสได้เรียนอีก ดังนั้นช่วงวัยเหมาะสมในการปลูกฝังเรื่องราวของมรดกชาติอย่างนาฏศิลป์ไทยนั้น ควรจะเป็นช่วงวัยของการศึกษาระดับพื้นฐานค่ะ
นายอภิชัย ตรงกลาง “เบียร์” นิสิตชั้นปีที่ 4 วิชาเอกนาฏศิลป์ไทย สะท้อนความคิดเห็นว่า เมื่อได้ข่าวไม่มีวิชาวิชานาฏศิลป์ในการร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ ตัวเองตกใจ เพราะอยู่ในวงการนี้มานานแล้ว เรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา – มัธยมศึกษา ซึ่งตัวเองไม่ได้เรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ แต่เรียนในโรงเรียนสายสามัญ ได้เรียนวิชานาฏศิลป์อย่างต่อเนื่อง การเรียนนาฏศิลป์ทำให้เราเป็นเยาวชนไทยไม่คลั่งวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้เราเห็นคุณค่าความเป็นไทย แต่หากวันหนึ่งไม่มีการเรียนการสอนนาฏศิลป์ในโรงเรียนก็ทำให้ห่วงว่า เยาวชนไทยจะเรียนรู้เรื่องราวทางวัฒนธรรมไทยได้อย่างไร ตอนนี้แม้เราเรียนนาฏศิลป์กันในโรงเรียน เราก็ยังเห็นเยาวชนไทยชอบ สนใจวัฒนธรรมต่างชาติ หากไม่มีการเรียนการสอนนาฏศิลปไทยหรือเรียนเป็นเพียงแค่วิชาเลือก ใครสนใจก็ไปเรียนยิ่งน่าห่วงมาก
“นาฏศิลป์ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเรามีครู การเรียนนาฏศิลป์ทุกครั้งต้องไหว้ครู ระลึกถึงครู นาฏศิลป์ทำให้เรามีระเบียบวินัยโดยเฉพาะการฝึกซ้อม เราลงมือปฏิบัติโดยไม่จำเป็นต้องท่องจำ แต่มันซึมซับจากการลงมือปฏิบัติจริง การเรียนจึงต้องเรียนของเก่าก่อนแล้วจึงจะสามารถนำมาประยุกต์เป็นของใหม่ หรือสร้างสรรค์การแสดงชุดใหม่ ขึ้นมาได้ เรียนนาฏศิลป์จึงเป็นการเชื่อมโยงศาสตร์วรรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และประณีตศิลป์เข้าด้วยกัน ผมเรียนนาฏศิลป์ในตั้งแต่ชั้นประถม มัธยมตอนต้นและตอนปลาย ต่อจากนั้นมาเรียนในวิชาเอกนาฏศิลป์ไทย ระดับปริญญาตรี ตั้งใจไว้ว่าจะเรียนต่อทางนาฏศิลป์ไทยจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก” ทั้งน้ำเสียงและแวววตาเห็นได้ถึงความมุ่งมั่น
นายชานนท์ บุตรพุ่ม “เจมส์บอนด์” นิสิตชั้นปีที่ 3 วิชาเอกศิลปกรรมศาสตร์ศึกษา สาขาศิลปะการแสดงศึกษา กล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ ว่า ตอนเรียนในระดับมัธยม ผมเรียนโรงเรียนสายสามัญแต่สนใจเรื่องราวความเป็นไทยที่สะท้อนผ่านเพลงลูกทุ่ง และการรำอย่างนาฏศิลป์ไทย จึงได้เรียนวิชาเหล่านี้ในโรงเรียน ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้การแสดงและการเต้นของประเทศเกาหลี เพราะสนใจและแปลกใจว่าทำไมเพื่อนๆจึงสนใจเรียน K Pop Star และ Street dance จึงไปฝึกเต้นบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วพบว่าตัวเองชอบรำไทยและไม่มีชาติไหนที่จะรำไทยได้สวยเท่ากับคนไทยอีกแล้ว นอกจากผมชอบรำไทยแล้วยังชอบร้องเพลงลูกทุ่ง และคว้ารางวัลถ้วยพระราชทาน เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
“ผมผูกพันและชอบเรียนวิชานาฏศิลปะไทยเพราะครูนาฏศิลป์เป็นคนใจดีและใจเย็นมาก ทำให้เรามีแรงบันดาลใจอยากจะไปเป็นครูบ้าง และไม่ว่าจะมีการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์เป็นวิชาพื้นฐานในระดับร.ร.สังกัดสพฐ. หรือไม่ก็ตาม ผมและเพื่อนจะรำกันต่อไปจนกว่าเราจะตาย เพราะการรำนาฏศิลป์ไทยสื่อให้เห็นความอ่อนช้อยของความเป็นไทย แม้ใครจะว่านาฏศิลป์เป็นเรื่องเชยหรือเก่าคร่ำครึ หากแต่มันก็คือรากเหง้าของคนๆไทยทุกคนพึงต้องเรียนรู้”
นางสาวพสชนันทร์ พันธรรม “แพม” นิสิตชั้นปีที่ 2 วิชาเอกศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ไทย ยิ้มและมีความสุขที่ได้พูดถึงวิชานาฏศิลป์ว่า หนูดีใจมากที่เป็นหนึ่งในเยาวชนไทยที่มีโอกาสไปแสดงโขนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งต้องซ้อมหนักมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์จากหลายจังหวัดที่จะมีโอกาสได้ร่วมแสดงโขนสมเด็จ แต่หนูผ่านการคัดเลือกมาได้จึงภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์มรดกไทย แต่เมื่อทราบข่าวว่า ร่างหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ไม่มีวิชานาฏศิลป์ ทำให้รู้สึกสะเทือนใจมาก การที่เราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นอาเซียน เราต้องชัดเจนในความเป็นไทย ต้องส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรมชาติ ซึ่งแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันหากกลุ่มประเทศในอาเซียนโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่คล้ายๆ กัน แต่เอกลักษณ์ความเป็นไทยไม่มีทางเหมือนประเทศอื่นๆ
“อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานชาติไทย ให้ความสำคัญในเรื่องเอกลักษณ์ชาติ ความจริงแล้วควรเขียนให้ชัดๆ ไม่ใช่ไปแปะไว้ในกลุ่มสาระใดสาระหนึ่ง หากไม่มีการเรียนการสอนเพราะไม่มีการเขียนให้ชัด จะทำให้หลายโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญ และสุดท้ายไม่มีการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านมรดกวัฒนธรรมชองชาติไทยครั้งยิ่งใหญ่”
ได้ฟังน้องๆ สะท้อนเรื่องวิชานาฏศิลป์ไทยสำคัญอย่างไร คงทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักรู้ในความเป็นมรดกทางวัฒนธรรม หากวันนี้ไม่มีนาฏศิลป์ไทย เราคงไม่ตาย แต่ความเป็นชาติไทยที่จะบอกเล่าความเป็นไทยผ่านนาฏศิลป์ คงจะเลือนหายไปจากแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน
http://www.komchadluek.net/detail/20131022/171084.html