ทาโรและจิโรผู้ถูกทอดทิ้ง เรื่องเศร้าของสุนัขลากเลื่อนขั้วโลกใต้
"ทาโรและจิโรผู้ถูกทอดทิ้ง" สุนัขแสนรู้ผู้เอาตัวรอดในขั้วโลกใต้กว่า 1 ปี
สวัสดีครับเพื่อนๆ สำหรับคนทั้งโลก คงทราบกันดีว่าสุนัขเป็นเพื่อนที่แสนดีและซื้อสัตย์กับมนุษย์มากที่สุด และความจำของมันก็เป็นเลิศ แม้ว่าเราต้องจากมันไปหลายปี แต่เมื่อไหร่ที่ได้พบกันอีกครั้ง มันยังคงจำเราได้เสมอ มีเรื่องราวความน่ารักและสุดซึ้งของเหล่าสุนัขบนโลกใบนี้อยู่มากมาย หนึ่งในนั้นที่ผมอยากให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันคือเรื่องที่สุนัขลากเลื่อนที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ขั้วโลกใต้เป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็ม ติดตามอ่านกัีนเลยครับ
14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 รัฐบาลญี่ปุ่นส่งคณะนักสำรวจฝ่าความหนาวเหน็บไปสำรวจทวีปอาร์กติก ดินแดนลึกลับขั้วโลกใต้ โดยปักหลักจัดตั้งสถานีสำรวจ “โชวะ” ขึ้นที่ทิศเหนือสุดของทวีปแห่งนี้
ภารกิจโหดหินที่ทีมสำรวจลูกพระอาทิตย์ทั้งหมดได้รับมาจากรัฐบาลคือสำรวจและสังเกตการณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตตลอดปีเต็มนี้ในดินแดนที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ -40 องศาเซลเซียส !!!
ภารกิจการสำรวจในช่วงฤดูใบไม้ผลิมีเป้าหมายอยู่ที่ภูเขา บอตซันนูแทน ซึ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,480 เมตร ทีมงานทุกคนต่างพากันหนักใจแต่ด้วยจิตสำนึกของความเป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทุกคนจึงปักใจมุ่งมั่นจะปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จลงให้จงได้ ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม
ปัญหาหนักอกของพวกเขาก็คือ สภาพรถสายพานที่เตรียมมาใช้สำหรับการเดินทางในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและหิมะของดินแดนขั้วโลกใต้ เอาเข้าจริงๆ ปรากฏว่าใช้การไม่ได้ และกว่าจะซ่อมเสร็จก็คงตกเอาหน้าร้อนซึ่งน้ำแข็งในทะเลก็จะละลายตัว ทำให้ไม่สามารถใช้รถคันนี้ได้อีกเช่นกัน
แผนสำรองจึงถูกกำหนดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็ลงตัวเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้รถสายพานซึ่งยังคงใช้งานได้ระดับหนึ่ง ทำหน้าที่ลำเลียงคณะสำรวจไปส่งที่จุดหมายซึ่งอยู่ห่างออกไป 518 กิโลเมตร จากนั้นก็ใช้เลื่อนที่ลากโดยสุนัขพันธุ์ซัคคาลินลากเลื่อนไปกลับรวมระยะทางอีกถึง 400 กิโลเมตร !!! ครับ...รวมระยะทางแล้วก็ประมาณกรุงเทพ-สงขลา นั่นแหละ ขับรถธรรมดายังแย่... ไม่เพียงแต่เท่านั้น การสำรวจชายฝั่งปรินซ์โอลาฟอีก 16 วัน ระยะทาง 350 กิโลเมตรก็จะใช้เลื่อนที่ลากโดยสุนัขเหล่านี้ด้วย
การสำรวจสำเร็จลุล่วงไปตามแผนที่กำหนดไว้ทุกประการ รวมระยะทางที่ใช้สุนัขพันธุ์ซัคคาลินเหล่านี้ลากเลื่อนถึง 1,600 กม. บนภูมิประเทศและภูมิอากาศสุดหฤโหด คณะสำรวจต่างพึงพอใจทั้งผลการสำรวจและชื่นชมในประสิทธิภาพของสุนัขลากเลื่อนเหล่านี้ ที่ทำงานได้ดีกว่าเครื่องมือสมัยใหม่อย่างรถสายพานเสียอีก
เวลา 1 ปีหมดลงไปอย่างรวดเร็ว คณะสำรวจชุดแรกสิ้นสุดภารกิจรอการมาเปลี่ยนของคณะสำรวจชุดที่ 2 ที่กำลังเดินทางมายังสถานีสำรวจแห่งนี้ แต่ปรากฏว่าเรือที่บรรทุกคณะสำรวจชุดที่ 2 กลับเจอปัญหาสำคัญคือติกแหง็กอยู่ท่ามกลางน้ำทะเลที่แข็งตัวหนาเสียจนเรือไม่อาจแล่นต่อไปได้ แม้เรือตัดน้ำแข็งของสหรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือก็ไม่สำเร็จ
น้ำแข็งยังคงหนาขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น จนที่สุดคณะสำรวจชุดที่ 2 จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนการทำงานด้วยการหยุดภารกิจการสำรวจไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย แล้วส่งข่าวทางวิทยุไปถึงคณะสำรวจชุดแรกที่ยังคงรอกลับบ้านอยู่ที่สถานีสำรวจโชวะว่า พรุ่งนี้เช้าจะส่งเครื่องบินไปรับคณะสำรวจกลับ โดยกำหนดเที่ยวบินไว้จำกัดเพียง 6 เที่ยวเท่านั้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนคงไม่สามารถบินได้มากเที่ยวกว่านี้
คณะสำรวจที่สถานีสำรวจโชวะรับทราบข่าวกลางดึก จึงเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงสำหรับการเตรียมตัว จากข้อมูลที่มีอยู่ เครื่องบินรุ่นโชวะที่จะมารับนี้บรรทุกน้ำหนักได้เพียง 350 กก.เท่านั้น แค่น้ำหนักคนก็เกือบเต็มพิกัดแล้ว สุดท้ายจึงจำเป็นต้องทิ้งข้อมูลและตัวอย่างที่สู้อุตส่าห์เก็บรวบรวมมาตลอดปีไว้ที่สถานีก่อน เพราะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ รวมทั้งสุนัขลากเลื่อนทั้งหมดก็จะต้องถูกทิ้งไว้เช่นเดียวกัน !!!
คณะสำรวจต่างพากันเศร้าเสียใจ โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงคืนวันที่ร่วมเดินทางไกลสำรวจดินแดนหฤโหดนี้มาด้วยกันตลอดปีที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นก็จำใจต้องจากกันและหวังว่าสวรรค์คงหาทางออกให้ หากอากาศดีขึ้น คณะสำรวจชุดที่สองก็จะเดินทางมาถึงและรับหน้าที่ดูแลสุนัขที่น่าสงสารเหล่านี้ต่อไป
รุ่งเช้าเครื่องโชวะก็มารับตามนัดหมาย ทุกคนต้องรีบเร่งอพยพก่อนที่ฟ้าจะปิดเครื่องบินขึ้นลงไม่ได้ ปรากฏว่ามีน้ำหนักบรรทุกเหลือพอสำหรับสุนัข 2-3 ตัว จึงตัดสินใจเลือกเอาสุนัขตัวแม่กับลูกของเธออีก 2 ตัวขึ้นเครื่องบินไปด้วย
สุนัขที่เหลือ 15 ตัวถูกล่ามไว้ที่ลานสถานีสำรวจพร้อมกับอาหารที่ทิ้งไว้ให้ ซึ่งคงพอเพียงสำหรับการกินไม่เกิน 1 อาทิตย์เท่านั้น !!!
ด้วยสัญชาตญาณและความฉลาด ซัคคาลินทั้ง 15 ตัวต่างพยายามดึงตัวเองให้หลุดจากโซ่ล่าม ส่งเสียงเห่าหอนระงมเมื่อเห็นนายกำลังขึ้นเครื่องจากไป พวกมันรู้ว่าแล้วว่าจะต้องถูกละทิ้งไว้
คณะสำรวจได้แต่สวดมนต์ภาวนาขอให้คุณพระคุ้มครองทั้ง 15 ชีวิตที่ถูกละทิ้งไว้ด้วย!
........อีก 1 ปีต่อมา การสำรวจขั้วโลกใต้ของรัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ส่วนล่วงหน้าของคณะสำรวจชุดที่ 3 จำนวน 2 คนซึ่งเคยปฏิบัติงานอยู่ในคณะสำรวจชุดที่ 1 เดินทางมาสำรวจสภาพสถานีสำรวจโชวะก่อนด้วยเฮลิคอปเตอร์ ด้วยความสงสัยว่า สภาพของสถานีที่ถูกทิ้งร้างไป 1 ปีจะเป็นอย่างไร จะยังอยู่ดีหรือไม่ หรือว่าต้องการการซ่อมแซมมากน้อยเพียงใด
ส่วนชะตากรรมของหมาลากเลื่อนทั้ง 15 ตัวนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจากพวกเขาไปหมดสิ้นแล้วจากสภาพหนาวเหน็บและการขาดแคลนอาหาร
ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังจะร่อนลงแตะพื้นทั้งสองก็รู้สึกโล่งใจจากภาพที่เห็นว่า ดูจากโครงสร้างภายนอกแล้วตัวสถานียังค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียวทำให้โล่งใจขึ้นมาก แต่แล้วต่างก็ต้องพากันแปลกใจและแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อมองลงไปเห็นหมา 2 ตัวยืนรออยู่ที่หน้าสถานีสำรวจด้วยท่าทางดีใจอย่างเห็นได้ชัด
นาทีนั้นนำสำรวจทั้งสองต่างพากันสงสัยว่า หมาสองตัวที่เห็นนั้นมาจากไหน และมาอยู่ที่สถานีสำรวจนี้ได้อย่างไร ?
ยังไม่ทันที่สกีของเครื่องจะแตะพื้น เจ้าหมาสองตัวนั้นก็มากระดิกหางหน้าตายิ้มแป้นรอรับอยู่ที่พื้นหิมะเบื้องล่าง นักสำรวจทั้งสองรีบลงมาจากเครื่องแล้วก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะหมาที่เห็นนี้ก็คือ 2 ตัวในทีมหมาลากเลื่อนของคณะสำรวจชุดแรกที่พวกเขาทิ้งไว้เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง
ทาโรกับจิโร !!!
นักสำรวจทั้งสองละทิ้งความสนใจในตัวสถานีไว้ก่อนแล้วช่วยกันสำรวจร่องรอยของหมาที่เหลืออีก 13 ตัวทันที จึงพบหลักฐานว่า ที่ล่ามไว้ทั้งหมด 15 ตัวนั้น มีซากหมา 7 ตัวที่ตายจมหิมะคาโซ่ที่ถูกล่ามไว้ แต่อีก 8 ตัวหายไป ซึ่งนั่นแปลว่า 8 ตัวนี้สามารถดึงตัวเองจนหลุดจากโซ่ได้
และทาโรกับจิโรที่กำลังเดินเคลียคลอเขาทั้งสองไม่ยอมห่าง เพราะคงกลัวจะถูกทิ้งอีกก็คือ 2 ในจำนวนนั้นนั่นเอง !!!
หมา 2 ตัวรอดชีวิตมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ในดินแดนขั้วโลกใต้เป็นเวลาถึง 1 ปีเป็นข่าวไปทั่วประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลกในเวลาต่อมา ข่าวนี้สร้างความสะเทือนใจให้แก่คนรักหมาทั่วโลก และติดตามมาด้วยคำถาม...
ทาโรกับจิโรรอดชีวิตมาได้อย่างไร?
คนรักหมาทั้งชาวญี่ปุ่นและใครต่อใครที่ได้ข่าวนี้มีทั้งดีใจกับทาโรและจิโรที่รอดชีวิตมาได้ และเสียใจกับอีก 13 ตัว ที่ต้องตายไปท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บและภูมิประเทศสุดหฤโหดของดินแดนขั้วโลกใต้
จากนั้นก็นำมาสู่การตั้งคำถามว่า - ทาโรและจิโรรอดมาได้อย่างไร...
เรื่องแรกที่มีคำตอบให้ก็คือ หมาลากเลื่อนทั้ง 15 ตัวรวมทั้งทาโรและจิโรล้วนเป็นหมาพันธุ์พื้นเมืองทางภาคเหนือของญี่ปุ่น คือ พันธุ์ซัคคาลิน
หมาพวกนี้สามารถอดทนต่ออากาศหนาวเหน็บได้เป็นอย่างดี ขนาดว่า -41 องศาเซลเซียส ก็ยังอยู่ได้กลางแจ้ง ไม่ต้องไปหลบอยู่ในกรง ไม่ต้องการผ้าห่ม หรือฮีตเตอร์ใดๆ ทั้งสิ้นให้เสียฟอร์ม แต่หากมีพายุหิมะพัดกระหน่ำซึ่งจะทำให้อากาศหนาวมากขึ้นไปอีกก็เพียงแต่ซุกตัวลงในหิมะแล้วโผล่แค่จมูกออกมาหายใจเท่านั้น ก็อยู่รอดปลอดภัยแล้ว
นอกจากจะอดทนต่อความหนาวเหน็บแล้ว ด้วยพื้นเพที่มาจากภูมิประเทศเขตหนาว (จัด) ซึ่งยากต่อการหาอาหาร ดังนั้นพวกมันจึงทนทานต่อความอดอยากอีกด้วย
สถิติที่เก็บไว้คือ หมาพันธุ์นี้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารใดๆ เลยติดต่อกันถึง 15 วัน ซึ่งอันนี้ไม่เหมือนหมาบ้านเราที่มีของกินทั้งวัน หิวขึ้นมาก็วิ่งไปแถวร้านอาหารโต้รุ่งเดี๋ยวเดียวก็อิ่มท้องแล้วเพราะเจ้านายคนไทยท่านกินกันทั้งวัน...
ทาโรกับจิโร - แม้จะอดอาหารได้ถึง 15 วัน แต่เจ้านายเขาทิ้งอาหารไว้ให้พอกินเพียงแค่ 15 วันเท่านั้น แต่นี่อยู่ตั้งปี รอดมาได้ไง?
คนญี่ปุ่นร่วมกันค้นหาคำตอบอย่างจริงจัง แล้วก็พอสรุปได้ดังนี้ครับ...
ทาโรกับจิโรเป็น 2 ในจำนวนหมา 8 ตัวที่สลัดปลอกคอหลุดออกมาได้ ไม่เหมือนพรรคพวก 7 ตัวที่อดตายคาโซ่ล่าม
ทาโรกับจิโรคงปักหลักหันหลังชนกันร่วมสู้ชีวิตโดยตลอดจนเจ้านายกลับมาในอีกปีหนึ่ง และระหว่างนี้สิ่งที่ทั้งสองทำได้ก็คือการช่วยกันออกล่าแมวน้ำที่มีอยู่มากมายในอาณาบริเวณเป็นอาหาร แมวน้ำตัวหนึ่งคำนวณดูแล้วแบ่งกันกินก็อยู่ได้ถึงประมาณ 20 วันทีเดียว...
นอกจากนั้น เคล็ดลับคือ เจ้าพวกแมวน้ำนี่สุดแสนจะขวัญอ่อน ถูกหมาเห่าใส่เมื่อไหร่เป็นขี้แตกขี้แตน
ขี้แมวน้ำเป็นอาหารสุดโปรดของหมาพันธุ์นี้ ทาโรกับจิโรจึงอิ่มหมีพีมัน มีกินทั้งของคาวและของหวานตลอดปี
และทาโรกับจิโรเป็นหมาฉลาด มันไม่เคยออกไปไกลจากสถาบันวิจัยเลย มันจึงไม่หลงทางไปไกลเหมือนหมาตัวอื่นๆที่หลุดจากโซ่และหลงหายไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกมันรอดชีวิตมาได้
ผ่านมาแล้วถึง 56 ปี กับความน่าประทับใจของมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนแสนดีของเรา สำหรับคนที่รักสุนัขทั้งหลายที่ได้อ่านเรื่องนี้จบ คงได้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ เก็บไว้ในความทรงจำต่อไปนะครับ...mata
ภาพโดยรวมของสถานที่จริงครับ
เรียบเรียงภาพประกอบ : พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
http://www2.biglobe.ne.jp/remnant/message011.htm
http://digitaljournal.com/article/337391
http://rednavigator.livejournal.com/58237.html
http://www.mext.go.jp/b_menu/hakusho/html/hpae199701/hpae199701_2_021.html
บัญชร ชวารศิลป์ , คมชัดลึกดอทคอม