รู้แล้ว ทำไมนกฮัมมิ่งเบิร์ดชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าลง
นกฮัมมิ่งเบิร์ด (hummingbird) มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปอเมริกา เป็นนกเพียงชนิดเดียวที่สามารถบินนิ่งๆ (hover) อยู่กลางอากาศได้ การบินนิ่งๆ นี้ต้องใช้พลังงานสูงกว่าการบินโฉบไปมามาก นกฮัมมิ่งเบิร์ดจึงมีอัตราการเมตาบอลิซึมสูงสุดในหมู่สัตว์ด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้นกฮัมมิ่งเบิร์ดจึงมักดื่มน้ำหวานจากดอกไม้ที่อุดมไปด้วยน้ำตาลและมีแคลลอรี่สูงเป็นประจำ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับที่ร่างกายใช้ไป ระหว่างที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้ก็เป็นการช่วยผสมเกสรไปด้วย พืชบางชนิดจึงมีวิวัฒนาการร่วม (co-evolution) ไปกับนกฮัมมิ่งเบิร์ดด้วย กล่าวคือนกฮัมมิ่งเบิร์ดมีส่วนในการคัดเลือกลักษณะบางอย่างของพืชที่มันไปดูดน้ำหวาน
ลักษณะอย่างหนึ่งที่พบคือ นกฮัมมิ่งเบิร์ดมักจะเลือกดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าลงมากกว่าดอกไม้ที่ชูช่อหงายขึ้นตามปกติ ทำให้พืชที่ดอกคว่ำหน้าลงมีโอกาสขยายพันธุ์มากกว่า ลักษณะดอกคว่ำจึงถูกคัดเลือกไว้ตามแรงวิวัฒนาการแต่เหตุผลที่ทำให้ "นกฮัมมิ่งเบิร์ดมักจะเลือกดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าลง" กลับเป็นปริศนาที่สร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาตร์เป็นเวลานาน
เนื่องจากนกนกฮัมมิ่งเบิร์ดเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงมาก การศึกษาพฤติกรรมของมันจึงต้องทำผ่านกล้องความเร็วสูงเท่านั้น การศึกษาที่ผ่านมาทำให้ทราบถึงวิธีที่พวกมันดูดน้ำหวาน การอ้าปากงับด้วยความเร็วสูง รูปแบบการไหลของน้ำหวานเข้าปาก รวมทั้งทราบว่านกฮัมมิ่งเบิร์ดใช้วิธีสลัดขนคล้ายสุนัขด้วยความเร็วสูงเพื่อทำให้ตัวแห้ง
และเมื่อเร็วๆ นี้ นักชีววิทยาได้ทดลองเพื่อหาคำตอบเรื่องดอกไม้ที่คว่ำหน้าลง โดยใช้ดอกไม้เทียมที่จัดเรียงในมุมต่างๆ ทั้งหงายขึ้น คว่ำหน้าลง และเฉียงลง 45 องศา พร้อมทั้งถ่ายท่าทางการบินของนกฮัมมิ่งเบิร์ดขณะดูดน้ำหวานจากดอกไม้ นอกจากนี้ในดอกไม้ยังใส่ตัววัดปริมาณออกซิเจนที่ถูกใช้ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงพลังงานที่ถูกเผาผลาญไปขณะที่บินค้างดูดน้ำหวานอยู่ด้วย
ผลปรากฏว่านกดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าลงจะต้องบินลอยตัวแหงนหน้าในท่าประหลาดเพื่อดูน้ำหวาน ซึ่งต้องใช้พลังงานมากกว่าการดูดน้ำหวานจากดอกไม้ในท่าอื่นราว 10% ซึ่งหมายความว่าการดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่คว่ำหน้าไม่ได้สบายกว่า เปลืองแรงกว่า แต่ทำไมนกฮัมมิ่งเบิร์ดจึงเลือกดูดน้ำหวานจากดอกไม้แบบนี้มากกว่า?
นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะดอกไม้ที่หงายหน้าขึ้นจะมีน้ำฝนหรือน้ำค้างหยดลงไป ทำให้น้ำหวานเจือจางลง การดูดแต่ละครั้งอาจไม่คุ้ม นกฮัมมิ่งเบิร์ดอาจแยกแยะได้ว่าดอกไม้ที่คว่ำหน้ามีน้ำหวานที่หวานกว่า เข้มข้นกว่า จึงเลือกที่จะดูดน้ำหวานจากดอกแบบนี้ แม้จะเปลืองแรงมากกว่าก็ตาม