“การอาบป่า” ชินรินโยคุ (森林浴) ธรรมชาติบำบัดของชาวญี่ปุ่น การอยู่กับป่า คือ การกลับมาอยู่กับตัวเอง
การอาบป่า ชินรินโยคุ (Shinrin-yoku / 森林浴) แยกออกเป็นคำว่า
- Shinrin (森林) แปลว่า ป่า
- yoku (浴) แปลว่า อาบ หรือ แช่ตัว
แปลรวมกันว่า การอาบป่า หรือ การรับรู้บรรยากาศป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา
การอาบป่า เป็นศาสตร์บำบัดจากญี่ปุ่น เรียกว่า Shinrin Yoku ที่ใช้การสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้า ศาสตร์นี้เป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1982 กระทั่งปี 2002 จึงมีการก่อตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้น เพื่อวิจัยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในป่าที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนเรา
มหัศจรรย์การอาบป่า ศาสตร์นี้ได้รับการทดลองและวิจัยในญี่ปุ่น พบว่า
- ช่วยฟื้นฟูกลไกของร่างกาย สารเคมีที่ปล่อยมาจากต้นไม้ในป่า ชื่อว่า ไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย การอาบป่าในธรรมชาติที่เริ่มส่งผลต่อร่างกาย ใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น
- ส่งผลให้อารมณ์ คุณภาพในการนอนหลับ และการทำสมาธิดีขึ้น
- ช่วยลดความเครียด บรรเทาอาการซึมเศร้า
- ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย และสุขภาพจิตในคราวเดียวกัน
- การได้สูดออกซิเจนจากธรรมชาติ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และเพิ่ม NK Cells ที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งได้
- ช่วยลดความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
คำแนะนำในการไปอาบป่า
- แนะนำให้วางสมาร์ตโฟน หรือกล้องถ่ายรูปเอาไว้ก่อน
- เข้าไปหาจุดจุดหนึ่งในป่า โดยการเดินไปเรื่อย ๆอย่างช้า ๆ ใช้ร่างกายนำทาง ใช้ประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการเงี่ยหูฟังเสียงป่า หรือเสียงนกร้อง ใช้จมูกสูดเอาอากาศสดชื่น กลิ่นจากต้นไม้ และกลิ่นจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากสารไฟทอนไซด์ เข้าไปลึก ๆ ช้า ๆ
- ใช้ร่างกายสัมผัสกับลมบาง ๆ ที่พัดผ่านผิวหนัง และพัดผ่านต้นไม้ก่อให้เกิดเสียงแผ่ว ๆ
- ใช้สายตามองไปยังเฉดสีอันแตกต่างหลากหลายที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้น แสงอาทิตย์ที่สาดส่องเข้ามา
- ใช้มือสัมผัสลำต้นของต้นไม้ หรือนอนลง เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนสัมผัสกับพื้นดิน ปล่อยตัวตามสบาย ทำจิตใจให้สงบ การใช้ประสาทสัมผัสของเราเชื่อมต่อกับธรรมชาติจะช่วยให้ทั้งร่างกาย และจิตใจของเราให้รู้สึกดีเป็นอย่างยิ่ง
ที่ไหนก็ทำ การอาบป่า ได้
การอาบป่า ถ้าให้ดีต้องทำในป่า แต่ก็ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เราสามารถไปอาบป่าได้ทุกที่บนโลก ไม่จำเป็นต้องปีนเขา หรือเดินไกล บางคนอาจเลือกนั่งเงียบ ๆ ใต้ต้นไม้ พายเรือในป่าชายเลน เดินช้า ๆ อยู่ในสวนใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งสวนในบ้านของเราเอง ก็เพียงพอที่จะให้ธรรมชาติค่อย ๆ ซึมซาบเข้าสู่หัวใจแล้ว
เคล็ดลับสำคัญ คือ ‘การอยู่กับปัจจุบันขณะ’ เปิดประสาทสัมผัสให้กว้าง สังเกตแสงที่เปลี่ยนไปตามกิ่งไม้ เสียงกรอบแกรบของใบไม้ หรือแม้แต่เงาของตัวเองที่ทอดผ่านทางเดิน
การใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างมีสติ เปิดรับด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่จำเป็นต้องเดินเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมาย แค่ ‘อยู่’ กับธรรมชาติอย่างตั้งใจ ให้ธรรมชาติซึมซาบเข้าสู่ใจและร่างกาย เหมือนเรากำลังอาบแสง ลม กลิ่น และพลังของป่า การอยู่กับป่าไม่ใช่แค่การหลบหนีจากโลกวุ่นวาย แต่คือ การกลับมาอยู่กับตัวเอง



















