ทำไมฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู ตอนที่ 1
"ฝรั่งเศส" หากนำคำนี้ไปเติมท้ายคำว่าอะไรก็ตาม จะกลายเป็นนิยามถึงความหรูหราในทันที*
ภาษาฝรั่งเศส อาหารฝรั่งเศส แฟชั่นฝรั่งเศส* ทั้งหมดล้วนมีความนัยที่สื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความหรูหรา และศิลปะการใช้ชีวิตที่มีความละเอียดละไม เช่นเดียวกันกับแบรนด์ฝรั่งเศส ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม ไปจนถึงเครื่องสำอาง
แม้หลายแบรนด์จะมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว แต่แบรนด์ฝรั่งเศสยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความพิถีพิถัน มีนวัตกรรมเฉพาะตัว และมี Story ที่ไม่มีใครเทียบได้
*เบื้องหลัง Story ของแบรนด์ฝรั่งเศสมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน?*
*"คนฝรั่งเศสชื่นชอบศิลปะ มีความชาตินิยมสูง และภูมิใจในประวัติความเป็นมาของชาติตัวเองมากประเทศหนึ่ง"*
ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรก ๆ ในยุโรปที่มีการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น ความมั่นคงยาวนานทำให้ผู้ชื่นชอบศิลปะมีอิทธิพลเหนือทั้งแผ่นดินและเวลายาวนาน กรุงปารีสกลายเป็นแม่เหล็กที่หลอมรวมศิลปะทุกแขนง ดึงดูดศิลปิน นักคิด และนักเขียนทั่วยุโรปมาตั้งแต่ยุคกลาง
ราชสำนักฝรั่งเศสเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในศตวรรษที่ 17 ภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วยกองทัพที่แข็งแกร่งและอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่แผ่ขยายไปทั่วยุโรป
ศิลปะการใช้ชีวิตแบบฝรั่งเศสสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอลังการของพระราชวังแวร์ซาย เฟอร์นิเจอร์สุดประณีตในสไตล์โรโกโก รวมถึงแฟชั่นที่กลายเป็นต้นแบบของความหรูหรา เช่น
- พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ริเริ่มสวมรองเท้าส้นสูง
- มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ ชื่นชอบน้ำหอม และเริ่มใส่ Robe à la Française
- พระนางมารี อ็องตัวแนต สร้างสไตล์ทรงผมสูงถึง 60 เซนติเมตร
สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การแต่งกายแบบฝรั่งเศสกลายเป็นสัญลักษณ์ของคว่มหรูหรา และเป็นแม่แบบให้ชนชั้นสูงทั่วยุโรปเจริญรอยตาม
แต่ความหรูหราจนเกินพอดี ท่ามกลางสถานะการณ์ที่เข้าขั้นล้มละลาย ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ล้มล้างระบอบกษัตริย์ลงในปี ค.ศ. 1789
ภายหลังการปฏิวัติ ฝรั่งเศสวุ่นวายอยู่กับการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง การปกครองประเทศก็สลับกันไปมาระหว่างจักรพรรดิ์กับประธานาธิบดี
หลุยส์ นโปเลียน หลานลุงของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นบุคคลที่ประชาชนเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1848
แต่ด้วยความที่กฎหมายไม่ให้ดำรงตำแหน่งซ้ำสอง หลุยส์จึงยึดอำนาจรัฐบาลตัวเองแล้วสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ปกครองฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1852–1870 ในประวัติศาสตร์ไทยจะตรงกับช่วงรัชกาลที่ 4
เพื่อป้องกันการประท้วงและล้มล้างรัฐบาล จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้รับสั่งให้บารอนโอสแมน เปลี่ยนแปลงผังของกรุงปารีสใหม่ ทุบทิ้งเก่าแทบทั้งหมด ปรับถนนหนทางให้กว้างขวาง สร้างจัตุรัส เพื่อให้หน่วยทหารตำรวจสามารถรุดช่วยคุมฝูงคนได้
ผลที่ได้ กรุงปารีสกลายเป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยงาม มีจัตุรัสกว้างใหญ่ มีถนนกว้างขวางที่ตัดเป็นบูเลอวาสองข้าง ตึกริมถนนถูกออกแบบให้ใหญ่โต และเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเมือง
ถนนหนทางที่กว้างใหญ่ ดึงดูดชนชั้นสูงให้เดินทางสะดวกสบายด้วยรถม้า
ตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม ดึงดูดช่างตัดเสื้อทั่วยุโรปให้มาเปิดร้านในปารีส
เกิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของกรุงปารีส คือ Le Bon Marché ในปีค.ศ. 1852 ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าแฟชั่นที่สำคัญ
การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ชนชั้นกลางที่มีฐานะ เช่น กลุ่มพ่อค้า วิชาชีพ สามารถเข้าถึงการแต่งกายแบบชนชั้นสูง ทำให้สินค้าแฟชั่นที่เคยจำกัดอยู่แต่ในแวดวง
ชั้นสูง จึงเริ่มแพร่หลายและเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป
แต่ลูกค้าคนสำคัญที่สุด คือ จักรพรรดินีเออเมนี เดอ มอนติโค พระชายาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
พระนางเป็นผู้นำแวดวงแฟชั่นฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 เป็นแรงผลักดันให้เกิดโรงเรียนสอนการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง ESMOD ซึ่งก่อตั้งโดยช่างตัดเสื้อส่วนพระองค์ Alexis Lavigne
นอกจากนี้พระนางยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดแบรนด์แฟชั่นมากมาย ซึ่งกลายเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์หรูมาจนถึงปัจจุบัน...
Louis Vuitton
ในปี ค.ศ. 1854 Louis Vuitton นักออกแบบหีบใส่ของได้เปิดร้านขายกระเป๋าเดินทางของตัวเอง ที่สร้างชื่อจากการคิดค้นกระเป๋าเดินทางสี่เหลี่ยมที่ด้านบนเรียบ ในยุคที่มีแต่คนทำกระเป๋าเดินทางที่ด้านบนเป็นทรงมน
ด้วยความที่ผู้คนสมัยนั้นยังเดินทางด้วยรถม้า และเนื้อที่ในรถม้ามีจำกัด กระเป๋าเดินทางทรงเหลี่ยมสามารถแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ เพราะกระเป๋าทรงเหลี่ยมสามารถวางซ้อนกันได้ ทำให้ประหยัดเนื้อที่ได้มากกว่า
นอกจากนั้น ยังมีการประดิษฐ์ตัวล็อกที่ป้องกันการสะเดาะกุญแจสำหรับกระเป๋า ทำให้กระเป๋าของ Louis Vuitton ได้รับความนิยมอย่างสูง
จนในที่สุด ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นช่างทำกระเป่าส่วนพระองค์ของจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนติโค
Hermès
กิจการนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1837 โดย Thierry Hermes ลูกครึ่งเยอรมันที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศส แรกเริ่มบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอานม้าสำหรับชนชั้นสูง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย
จนในปี ค.ศ. 1880 Thierry ได้ส่งกิจการต่อให้กับลูกชาย Charles-Émile Hermes ซึ่งเขาได้มีการปรับธุรกิจเป็นขายปลีกและย้ายมาเปิดร้านใหม่หรูหราบนถนน Faubourg Saint-Honoré
หลังจากนั้นไม่นาน Hermes ได้ให้กำเนิดกระเป๋าเพื่อแบกสัมภาระไปกับการเดินทางบนหลังม้าอย่าง Haut a Courroies ซึ่งกลายเป็นรากฐาน
ของกระเป๋า Hermes หลายต่อหลายรุ่นในเวลาต่อมา..
นอกจากการมีลูกค้า และมีสถาบันการออกแบบแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแฟชั่นฝรั่งเศสก็คือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ มีจุดเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก่อนจะขยายไปยังอุตสาหกรรมในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นที่อังกฤษ ก่อนจะแพร่มาเบลเยียม และฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ 3 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งตรงกับสมัยจักรพรรดิ
นโปเลียนที่ 3 แต่ฝรั่งเศสต่างจากอังกฤษ และเบลเยียม คือ ฝรั่งเศสไม่มีแหล่งแร่เหล็กและถ่านหินมากนัก สิ่งที่ฝรั่งเศสมุ่งพัฒนาอย่างมากก็คือ “อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ด้วยความที่สินค้าแฟชั่นฝรั่งเศสเป็นที่นิยมอยู่แล้ว ฝรั่งเศสจึงเป็นผู้ส่งออกเครื่องแต่งกายสำคัญของยุโรป ทั้งเสื้อผ้า ถุงมือ และผ้าไหม เกิดโรงงานสิ่งทอมากมายตั้งอยู่รอบกรุงปารีสดูเหมือนว่าช่างตัดเสื้อหลายคนกำลังถูก Disrupt ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่ในความเป็นจริง ลูกค้าผู้มีฐานะทั้งหลาย กลับไม่อยากสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากเครื่องจักร เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้ขาดเอกลักษณ์ และอาจจะไปซ้ำ
กับใครก็ได้วิกฤติครั้งนี้จึงกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ทำให้ช่างตัดเสื้อหลายคนเปลี่ยน
กลยุทธ์มานำเสนอเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยมือ และมีการตัดเย็บเฉพาะบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ฝรั่งเศสหลายแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน
Charles Frederick Worth นักออกแบบชาวอังกฤษ ผู้ข้ามมาเปิดห้องเสื้อที่ปารีสในปี ค.ศ. 1857 เป็นผู้นำเสนอเสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยมือ ใช้เนื้อผ้าราคาแพง วัสดุตกแต่งหรูหรา และเปลี่ยนแฟชั่นจากกระโปรงสุ่มไก่ที่ใส่กันมานานเป็นกระโปรงมีหางยาว ลักษณะเหมือนอานม้าเล็ก ๆ เรียกว่า กระโปรงอานหรือ Bustle
ซึ่งผลงานการออกแบบของ Worth ก็ดึงดูดลูกค้าคนสำคัญคนเดิม คือจักรพรรดินีเออเมนี เดอ มอนตีโค รวมไปถึงเหล่าคนในแวดวงชั้นสูงและนักธุรกิจ
แต่นอกจากรูปแบบเสื้อผ้าและการตัดเย็บแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Worth เปลี่ยนแปลงก็คือ “วิธีการนำเสนอ
จากเดิมที่ลูกค้าจะเป็นผู้แนะนำแบบของเสื้อผ้าให้กับช่างตัดเสื้อ เขาจะเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้เป็นรูปแบบใหม่ รูปแบบที่จะเปิดม่านกรุงปารีสให้กลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลกในศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง หรือที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า โอตกูตูร์ (Haute Couture) และโอตกูตูร์นี่เองที่จะนำไปสู่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บนโลกนี้ นั่นก็คือ..
“การเดินแฟชั่นโชว์”

















