อาหารแห่งอนาคต “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากแลป”
หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วสำหรับ เนื้อสัตว์ทดแทน ซึ่งในวันนี้เราก็มีเรื่องราวมาแบ่งปัน เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ที่อาจจะมาเป็นสิ่งทดแทนจริงๆ ในอนาคตไม่ไกลนี้ นั้นก็คือ เนื้อสัตว์ที่เพาะจากห้องแลป นั่นเอง
เนื้อสัตว์เป็นอาหารประเภทโปรตีนที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย หลายคนบริโภคเนื้อสัตว์ และบางกลุ่มหลีกเลี่ยงการ บริโภคเนื้อสัตว์ อย่างกลุ่มคนกินเจ มังสวิรัติ และวีแกน เป็นต้น และจากงานวิจัยเผยว่าคนไทยเรากว่า 67% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์
ความก้าวหน้าทางอาหารทำให้นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์สัตว์ภายในห้องแลป ทำให้มีหลายบริษัทสนใจเทคโนโลยีนี้ อย่างบริษัท GOOD Meat และ UPSIDE Foods ได้รับอนุมัติการเพาะเลี้ยงเซลล์ไก่ รวมถึงในร้านอาหารที่ซานฟรานซิสโกและวอชิงตัน ดี.ซี. มีการจำหน่ายแซนด์วิชเนื้อไก่จากแลป
มารู้จัก เนื้อสัตว์จากแลป (Cultured Meat) กันดีกว่า เป็นกระบวนการของสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด ที่เลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี มีการเก็บเซลล์จากสัตว์ที่ยังมีชีวิต และนำมาเพาะเลี้ยงในห้องแลป ให้สารอาหารแก่เซลล์อย่างโปรตีน วิตามิน น้ำตาล และฮอร์โมน จนได้ชิ้นเนื้อที่เจริญเติบโตเต็มที่และกลายมาเป็นอาหารเนื้อสัตว์จากแลป
แล้วเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติล่ะ จากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า อุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกประมาณ 14.5% และการเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องใช้พื้นที่ รวมถึงทรัพยากรน้ำและอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ระยะเวลาในการเลี้ยงสัตว์อาจมากถึง 112 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์
สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ตามรายงานจาก FAO ชี้ให้เห็นว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ เมื่อเทียบกับน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม (แมลง ไก่ หมู และวัว) พบว่า
• ปริมาณอาหาร ที่ใช้เลี้ยงสัตว์อยู่ระหว่าง 2.1 - 25 กิโลกรัม ขณะที่อาหารเพาะเลี้ยงเซลล์แค่ 2 กิโลกรัมเท่านั้น
• ปริมาณน้ำ ที่ใช้เลี้ยงสัตว์อยู่ระหว่าง 23 - 112 แกลลอน ขณะที่ใช้น้ำเพาะเลี้ยงเซลล์แค่ 5.6 แกลลอนเท่านั้น
• ปริมาณพื้นที่ ที่ใช้เลี้ยงสัตว์อยู่ระหว่าง 28 - 201 ตารางเมตร ขณะที่พื้นที่เพาะเลี้ยงเซลล์แค่ 2 ตารางเมตรเท่านั้น
แล้วรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการล่ะ?? จะเป็นยังไงบ้าง ถึงแม้ว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ยังขาดความเป็นเอกลักษณ์ของเนื้อแต่ละท้องถิ่นที่มีการเลี้ยงสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความสามารถในการสร้างเนื้อเยื่อที่ซับซ้อนได้ ทำให้ได้เนื้อที่คล้ายกับส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ จึงมีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อธรรมชาติ และคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงสามารถกำหนดสัดส่วนสารอาหารต่าง ๆ แก่เซลล์ได้ จึงให้สารอาหารที่ครบถ้วน ไม่ต่างอะไรกับเนื้อจากธรรมชาติมากเท่าไรเลย
เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ แต่จากปัญหาการขาดแคลนอาหาร และการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ที่มาจากสัตว์ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางอาหารเป็นเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ต่อแนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ลดลง และเพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ รวมถึงเนื้อสัตว์จากแลปยังเป็นทางเลือกใหม่แก่กลุ่มมังสวิรัต และวีแกนได้ด้วย ทำให้เป็นทางเลือกที่มีความสำคัญสำหรับหลายๆกลุ่มเลย
ในอนาคตอีกไม่ไกลนี้หลายๆอย่างอาจจะเปลี่ยนไป เพราะมีเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ วิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วยเพื่อทำให้สิ่งต่างๆ สะดวกขึ้น รวมถึงทดแทนสิ่งที่หาได้ยากและกำลังจะหายไป หรือเพื่อการอนุรักษ์ รักษาอีกด้วย

















