รีวิวหนังสือ ฉันหมด Passion หรือแค่ยังหามันไม่เจอ (The Passion Paradox)
เนื้อหาโดย machete007
Passion หรือความปรารถนา คือแรงผลักดันให้เราอยากทำงาน ต่อสู้กับอุปสรรคตรงหน้า ช่วยให้เรามีอิทธิบาท 4 ในการทำงาน (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) แต่ปัญหาก็คือถ้าเราหมด Passion หรือไม่มี Passion ตั้งแต่แรกเลย เราจะไม่อยากทำงานทำการอะไรเลย แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นมาจากไหน ???
Brad Stulberg และ Steve Magness สองนักเขียนหลักจะมาให้มุมมองใหม่ ว่าแท้จริงแล้วเราหมด Passion หรือเรายังหา Passion ไม่เจอกันแน่ ??? หากเรารู้ตัวเอง เราจะได้หา Passion ให้กับตัวเองได้ทัน
ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าการเว้นระยะห่างกับตัวเองช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง เพราะเราได้นำตัวเองออกจากเหตุการณ์นั้นแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม มันจะกระตุ้นสมองส่วนที่มีเหตุผลและใช้ความคิดเมื่อต้องเจอสถานการณ์ต่างๆ
- ได้เรียนรู้ว่าวิธีค้นหา Passion ที่ดีคือลดมาตรฐานลงจากความสมบูรณ์แบบเป็นความน่าสนใจ จากนั้นเปิดใจให้กว้างไล่ตามมัน
- ได้เรียนรู้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราสัมผัสกับความไม่จีรังของตัวเอง เราไม่ควรรอให้วันนั้นมาถึง แต่ควรใคร่ครวญถึงมันเป็นประจำ คิดถึงเรื่องการตายให้บ่อยขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้เรามั่นใจว่าตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตแบบที่ต้องการจริงๆ
- ได้เรียนรู้ว่าการพักผ่อนจะเป็นส่วนสำคัญของการทำสิ่งที่เรารัก การทุ่มสุดตัวไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้พักเลย ตรงกันข้าม การพยายามทำตาม Passion ยิ่งเป็นเหตุผลให้เราต้องพักก่อน
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราอยากเรียนรู้สิ่งสำคัญและเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างยั่งยืน เราต้องเต็มใจที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับช่วงเวลาที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
- ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเราต้องตัดใจจาก Passion เราจะมีอารมณ์ด้านลบเข้ามาและพยายามเติมช่องว่างในจิตใจ บางครั้งหลายคนหันไปเสพติดสิ่งอื่น แต่จริงๆแล้วเราควรหยุดพักและหาเวลาว่างเพื่อครุ่นคิดว่าแท้จริงแล้วเรารักอะไร เราอยากให้เรื่องราวชีวิตดำเนินไปอย่างไร ?
- ได้เรียนรู้ว่า Passion มักแลกด้วยเวลาและพลังงานที่ต้องใช้กับครอบครัว เพื่อนฝูง กิจกรรมอื่นๆรวมถึงความสุขง่ายๆในชีวิต ถ้าเรามี Passion มากไป โดยเฉพาะมี Passion โดยยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ มันจะทำลายชีวิตนำพาเราไปสู่ภาวะหมดไฟ
- ได้เรียนรู้ว่าการไล่ตาม passion ตัวเองทีละน้อยจะช่วยลดความกดดันและเหลือพื้นที่ให้เราทำพลาดได้มากขึ้น วิธีนี้เปิดโอกาสให้เราล้มเหลวและเรียนรู้จากมัน
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จเร็วจะถูกเงิน ชื่อเสียง และยอดผู้ติดตามครอบงำได้ง่ายมาก เดิมทีเรามี passion ไว้ทำสิ่งที่ชอบ แต่ตอนนี้กลับใช้เพื่อหาผลประโยชน์ เราผูกมัดคุณค่าของตัวเองไว้กับการยอมรับจากคนอื่น ถ้าเราล้มเหลวหรือสำเร็จแค่ครึ่งๆกลางๆโดยไม่ก้าวหน้าไปไหน ดีที่สุดคือก็แค่ไม่มีความสุข วิตกกังวล ซึมเศร้า ร้ายที่สุดคือเราจะทำเรื่องผิดๆในที่สุด
- ได้เรียนรู้ว่าเดิมทีคำว่า Passion มาจากคำว่า passio หมายถึง ความทุกข์ทรมาน ความลำเค็ญ ความโกรธ แต่พอมาถึงช่วงศตวรรษที่ 18 passion มีความหมายว่ามีความหลงใหลในสิ่งที่รัก ต่อผู้อื่น รวมถึงงานอดิเรกหรือกิจกรรมบางอย่างด้วย
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราทุ่มเทไล่ตาม passion สุดตัวจนเพิกเฉยทุกอย่าง ชีวิตแต่งงานเราจะล้มเหลว ลูกๆเติบโตโดยไม่รู้ตัว เราอาจละเลยสุขภาพของตัวเอง เราอาจรู้สึกดีที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่เวลาผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับมาเราอาจเสียใจและไม่อยากเสียเวลาแบบนั้นไปอีกเลย
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราไม่รู้จักควบคุม passion ก็จะต้องเสี่ยงกับภาวะหมดไฟ การตกเป็นทาสของผลประโยชน์และการยอมรับจากผู้อื่น ความรู้สึกผิด การสูญเสียความสุข
- ได้เรียนรู้ว่าความยึดติดใน passion นี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองชื่อโดพามีน ซึ่งคอยกระตุ้นและปลุกเร้าให้เราเพ่งความสนใจกับสิ่งที่กำลังทำ เราจึงรู้สึกกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา เราไม่ได้เสพติดความรู้สึกที่ได้จากความสำเร็จ เราไม่ได้กระตือรือร้นเพื่อมีความสุข แต่เรากระตือรือร้นเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
- ได้เรียนรู้ว่าขณะที่ Dopamine ไหลเวียนในสมองมันจะกระตุ้นการตอบสนองของเส้นประสาทและสร้างความหวังว่าเราจะได้รับรางวัลตอบแทนในเร็วๆนี้ เช่น ถ้าฉันเขียนหนังสือเล่มนี้จบ ฉันจะรู้สึกดีขึ้น
- ได้เรียนรู้ว่ายิ่งเราทำสิ่งเดิมซ้ำๆเท่าไหร่ โดยเฉพาะสิ่งดีๆที่ได้รับการตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการคว้าเหรียญทอง ได้เลื่อนตำแหน่ง เรายิ่งต้องการ Dopamine มากเท่านั้น Dopamine จะถูกหลั่งออกมาเพื่อเพิ่มการตื่นตัว เมื่อเวลาผ่านไปสมองจะตอบสนองต่อ Dopamine น้อยลง คล้ายกับการติดสารเสพติด เราต้องการมันมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีและกลับมาทำซ้ำอีกรอบ และ Dopamine ก็จะหลั่งเพิ่มขึ้นอีก วงจรแห่งความต้องการก็จะวนซ้ำไปเรื่อยๆ เราจึงเสพติดการไล่ล่ารางวัล ไม่ใช่เพื่อบรรลุเป้าหมาย
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่ยึดติดกับ passion ที่ใช่มักสนใจกับความรู้สึกแรกพบมากเกินไป พวกเขามีแนวโน้มเลือกงานอดิเรก อาชีพจากอารมณ์ตอนต้น ไม่ใช่ศักยภาพในการเติบโตจึงมักล้มเลิกงานอดิเรกและหน้าที่การงานใหม่ตั้งแต่เจอสัญญาณแรกของปัญหาหรือความผิดหวัง แล้วคิดว่าสิ่งไม่ใช่สำหรับฉัน
- ได้เรียนรู้ว่ายิ่งยึดติดกับ passion ที่ใช่ ยิ่งมีข้อจำกัด มันจะจำกัดให้เราอยู่กับสิ่งที่ดีในวูบแรกและเราจะเปราะบางต่อปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา
- ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเราเจอสิ่งที่ใช่ เราต้องตัดสินว่าจะยอมให้ตัวเองถลำลงไปมากขึ้น หรือจะปล่อยมันไป เมินเฉยราวกับเป็นเพียงความสนใจชั่วครู่ ถ้าเลือกเมินเฉย เราจะส่งข้อความกับสมองว่าสิ่งนั้นไม่มีค่าอะไร แล้วครั้งต่อไปที่เราเจอแบบนั้นอีก สมองก็จะไม่ตื่นเต้นกับสิ่งนั้นอีก
- ได้เรียนรู้ว่ายิ่งอายุมากขึ้น โรคฉันไม่น่าจะทำได้จะรุนแรงขึ้น ซ้ำยังไปบังคับให้เราอยู่ในกรอบความคิดที่ว่า ถ้าเราอยู่บนเส้นทางใดแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคืออยู่ในเส้นทางเดิมต่อไป แต่ความคิดนี้จะขัดขวางไม่ให้เรามองหาโอกาสที่จะพาเราออกมาสู่ชีวิตที่ดีกว่า เราจะไม่มีวันรู้ว่าตัวเองอยู่บนเส้นทางที่ใช่ เว้นแต่จะสำรวจและไล่ตามสิ่งที่เราสนใจ
- ได้เรียนรู้ว่านักวิจัยค้นพบว่า ผู้ที่ทำงานประจำต่อแล้วทำธุรกิจหรือหาเงินจาก passion ไปด้วย มีโอกาสล้มเหลวน้อยกว่าผู้ที่ลาออกมาทำธุรกิจอย่างเดียวถึง 33%
- ได้เรียนรู้ว่าหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ passion เป็นส่วนสำคัญของชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่การเลือกระหว่าง"สิ่งที่ต้องทำ"หรือ"สิ่งที่ควรทำ" แต่คือการเลือกทำทั้งสองอย่าง
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่ทำอะไรเต็มที่ ไม่อย่างนั้นเลิกทำ สุดท้ายก็มักต้องเลิกกันจริงๆแต่คนที่ทำอะไรทีละนิดเป็นเวลานานสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ วิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยน passion มาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตก็คือ"การทำแบบค่อยเป็นค่อยไป"
- ได้เรียนรู้ว่าหากเราใช้ชีวิตโดยมุ่งตาม passion หรืออุทิศชีวิตเพื่อมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งเราต้องเดิมพันกับตัวเอง เชื่อมั่น และทุ่มสุดตัว เราไม่มีทางรู้ว่าเวลาที่ควรทุ่มสุดตัวคือเมื่อไหร่ แต่ถ้าเรามีศรัทธามากพอ เราก็ลองเชื่อมั่นและลองทำดู มันจะไม่ใช่ความเชื่อแบบลมๆแล้งๆ แต่เป็นการตัดสินใจแบบมีเหตุผลเพื่อให้ใช้ชีวิตแบบมี passion มากขึ้น
- ได้เรียนรู้ว่า passion แบบหมกมุ่นจะทำให้เราใช้ความสำเร็จ ผลลัพธ์ และรางวัลภายนอกเป็นแรงผลักดันมากกว่าความพึงพอใจ นั่นแปลว่า เราอยากได้จากการทำสิ่งนั้นมากกว่าการได้ลงมือทำ คนที่มี passion แบบหมกมุ่นจะผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับสิ่งที่เหนือการควบคุม สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยภาวะเครียดอย่างรุนแรง
- ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเราเอาตัวตนไปผูกติดกับผลลัพธ์ภายนอก แต่ความสำเร็จทุกชนิดย่อมมีความล้มเหลวอยู่ด้วย ถ้าเราไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวอย่างซื่อสัตย์ เปิดใจ และนอบน้อม เราก็อาจจะต้องเจอกับความทุกข์ ภาวะซึมเศร้า และการฉ้อโกงได้
- ได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าจะทำอาชีพใด คนที่มี passion แบบหมกมุ่นจะมีโอกาสทำผิดได้มากกว่า และเสี่ยงกับการเป็นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า และหมดไฟได้สูงกว่า
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเรากระหายผลลัพธ์และการยอมรับจากผู้อื่น ต่อให้ประสบความสำเร็จกี่ครั้งก็ไม่พอ เราจะอยากได้มากขึ้นตลอดเวลา ทั้งชื่อเสียง เงินทอง จำนวนผู้ติดตาม ในทางพุทธ พระพุทธเจ้าเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าความทุกข์
- ได้เรียนรู้ว่าไม่มีใครเก่งด้วยความพยายามเพียงแค่ครั้งเดียว ความเป็นเลิศจากความล้มเหลวหลายๆครั้ง แต่ละครั้งก็ให้บทเรียนสำคัญต่างกัน
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราคิดว่าการไม่ทำอะไรเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราก็จะหยุดพักได้จริงๆ การพักผ่อนไม่ใช่การนิ่งเฉย ไม่ได้ผลงาน หรือเสียเวลาเปล่า แต่เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง เช่น สมองได้พักฟื้นเต็มที่ ฯลฯ
เนื้อหาโดย: machete007
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ












Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด



