วิธีป้องกัน และ วิธีการปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอาการ “ฮีทสโตรก (โรคลมแดด)”
อากาศที่ร้อนจัด ทำให้ต้องเฝ้าระวังภาวะฮีทสโตรก (โรคลมแดด) โดยเมื่อออกกําลังกาย หรือ ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในสภาพอากาศร้อนชื้น และ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือ อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นมาก การถ่ายเทของอากาศไม่ดี จะทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นฮีทสโตรก (โรคลมแดด) ได้ โดยเฉพาะในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคลมแดดแม้ว่าจะไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงก็ตาม
ฮีทสโตรก (โรคลมแดด) เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ มักเกิดในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยอยู่กลางแดดจัด หรือ มีความชื้นสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในหน้าร้อน ช่วงระยะเวลาที่เกิดคลื่นความร้อนสูง นอกจากนั้นการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันโดยไม่พัก ก็ เพราะโดยปกติร่างกายจะขับความร้อนออกทางเหงื่อ แต่หากอยู่กลางแดดเป็นเวลานานเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายทั้งสมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรหรือเสียชีวิต
ประเภทของฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
1.โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลัง (Exertional heatstroke) เกิดจากการออกกําลังกายอย่างหนักในสภาพอากาศร้อน
2.โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการออกกำลัง (Nonexertional or classic heatstroke) เกิดจากการที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังมักจะไวต่อการเป็นโรคลมแดดประเภทนี้
อาการของฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
1.เมื่ออุณหภูมิร่างกายที่วัดจากภายในร่างกาย เช่น ผ่านทางทวารหนักสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
2.พฤติกรรมหรือสภาพจิตใจเปลี่ยนไป เช่น สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ ชัก หมดสติ หรือ โคม่า
3.หากเป็นโรคลมแดดจากอากาศร้อน ผิวจะแห้งและร้อน
4.หากเป็นโรคลมแดดจากการออกกําลังกายอย่างหนัก ผิวจะแห้งและชื้นเล็กน้อย
5.คลื่นไส้และอาเจียน
6.ผิวหนังแดงขึ้น
7.หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบถี่
8.ปวดหัวตุบ ๆ
9.หน้ามืด วิงเวียน
10.ไตวาย ช็อก ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ
สาเหตุของฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
1.อากาศร้อนชื้น
2.ออกกําลังกายหรือใช้แรงมากขณะที่อยู่ในสภาพอากาศร้อน
3.สวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศหรือหนา ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยออกได้ อุณหภูมิของร่างกายจึงไม่สูงขึ้น
4.ดื่มน้ำน้อย
5.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
วิธีป้องกันฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
1.ดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย หรือ เมื่อต้องออกแดดเป็นเวลานาน อาจดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มผสมเกลือแร่เพื่อชดเชยเกลือกับน้ำที่สูญเสียไป
2.สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม ที่สามารถระบายความชื้น ความร้อน และดูดซับเหงื่อได้เพื่อลดความร้อนในร่างกาย
3.หลบเข้าร่มโดยเฉพาะในช่วงใกล้ ๆ เที่ยง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน
4.ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนัก หรือ หักโหม ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรเผื่อเวลาพักด้วย
5.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก่อนออกแดด ซึ่งจะไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัดเพราะอาจทำให้ปวดท้อง
6.ใช้เทคนิคการระบายความร้อนลดอุณหภูมิ ด้วยการพ่นละอองน้ำเย็นลงบนร่างกายขณะที่เป่าลมจากพัดลมเพื่อทำให้เกิดการระเหยที่เร็วขึ้นและทำให้ผิวเย็นลง
7.การใช้ผ้าห่อน้ำแข็งห่มตัว หรือ ประคบน้ำแข็งลงบนคอ หลัง รักแร้ ขาหนีบ
8.อาบน้ำฝักบัวหรือแช่น้ำเย็น หากอยู่กลางแจ้งอาจแช่ตัวในลำธารหรือแม่น้ำ
วิธีการปฐมพยาบาลอาการฮีทสโตรก (โรคลมแดด)
1.รีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเท
2.นอนหงาย จัดท่าให้ยกขาขึ้นสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนมาสู่สมอง
3.ดื่มน้ำเย็นระบายความร้อนภายในร่างกาย
4.คลายเสื้อผ้าให้หลวมเพื่อระบายความร้อน
5.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือประคบเย็นเพื่อระบายความร้อน
6.ถ้าคนไข้ซึม ไม่รู้สึกตัวให้รีบเรียกพยาบาลโดยทันที
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว โดยเฉพาะประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองร้อน อาจทำให้พบเจอผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก (โรคลมแดด) มากกว่าปกติ หากปฐมพยาบาลได้ถูกต้อง ทันท่วงที จะสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ไม่ควรประมาท เพราะหากไม่ทราบวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรป้องกันตัวเองด้วยการหมั่นสังเกตอาการเมื่อออกแดด และ ปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรก (โรคลมแดด)






















