Binge-Watching ติดซีรีส์ เพราะ ซีรีส์สนุก จึงหยุดดูไม่ได้ พฤติกรรมที่อาจเป็นภัยต่อสุขภาพ
Binge-Watching หมายถึง พฤติกรรมการดูซีรีส์ หรือ สื่อบันเทิงอื่น ๆ ติดต่อกันโดยไม่ได้พักผ่อน เมื่อเนื้อเรื่องเริ่มเข้มข้น ตื่นเต้นมากขึ้น ยิ่งทำให้ต้องการติดตามจนลืมทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ลืมใส่ใจผู้คนรอบข้างไปโดยปริยาย
พฤติกรรมลักษณะนี้อาจเป็นผลมาจากการที่สมองปล่อย “สารโดปามีน” ออกมาเมื่อรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน มีความสุขระหว่างการดูซีรี่ย์ คล้ายกับความสุขเมื่อได้กินนอาหารที่ชอบ ได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ การมีเพศสัมพันธ์ ทำให้รู้สึกคล้ายได้รับรางวัล จนอาจหลงลืมเวลาและดูติดต่อกันหลายตอนในคราวเดียว
พฤติกรรมของ Binge-Watching
1.มักดูซีรีส์รวดเดียวจบ หรือ สามารถดูต่อเนื่องได้เป็น 10 ตอน โดยไม่หยุดพัก บางครั้งใช้เวลาต่อเนื่องมากกว่า 8 ชั่วโมง
2.รู้สึกหงุดหงิด หากไม่ได้ดู มักใช้เวลาในการดูมากกว่าที่ตั้งใจไว้
3.ติดซีรีส์ติดต่อกันตลอดทั้งคืนจนเกินเวลาการพักผ่อน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิต / กิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าวไม่ตรงเวลา นอนไม่ตรงเวลา ประสิทธิภาพการเรียน การทำงานลดลง
4.มีสภาพอิดโรยจากการอดนอนแต่ก็ยังหยุดดูไม่ได้
5.มักจะขยับร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร่างกายในอนาคตได้
ผลกระทบจากการหยุดดูซีรีส์ไม่ได้
1.การนอน หากซีรี่ส์ สื่อบันเทิงที่เปิดดูก่อนนอน มีเนื้อหาน่าตื่นเต้น การต่อสู้ ใช้จินตนาการ สามารถกระตุ้นให้สมองตื่นตัว จนก่อให้เกิดปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก นอนละเมอ สะดุ้งตื่นตอนเช้าและอาจไม่สามารถนอนต่อได้
2.พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายเพลียสะสมจากการนอนไม่พอ (Sleep Debt) ทำให้หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านการจดจำ ปวดศีรษะ มึน ๆ ตื้อๆ ตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงาน การเรียน ลดลง
3.เสี่ยง Computer Vision Syndrome จากการใช้สายตามอง จอคอมพิวเตอร์ / มือถือ เป็นเวลานาน ส่งผลให้ตาเกิดความเหนื่อยล้า ปวดตา สายตาพร่ามัว เสี่ยงกับโรควุ้นในตาเสื่อม โรคต้อหินเฉียบพลัน
4.ปัญหาสุขภาพร่างกาย การนั่งหรือนอนอยู่กับที่ขณะดูซีรีส์ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลดลง หากมีการกินขนม ดื่มน้ำหวาน ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ยิ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน ออฟฟิศซินโดรม ปวดเมื่อยตามร่างกายจากการค้างท่าเดิมเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันหากดูซีรีส์จนกินอาหารไม่ตรงเวลา อาจทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน
5.ปัญหาด้านจิตใจ การให้ความสนใจกับเนื้อหาในซีรีส์ติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจก่อให้เกิดความเครียด ความรู้สึกโดดเดี่ยว เริ่มแยกตัวจากสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพกับคนรอบข้างตามมา ในบางคนเมื่อซีรีส์จบจะรู้สึกใจหาย เศร้าอย่างไม่มีเหตุผล โหวง ๆ ที่เรียกว่าภาวะ Post-Series Depression (PSD)
ป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดพฤติกรรม Binge-Watching
1.มีวินัยต่อตนเอง กำหนดเวลา กำหนดจำนวนตอนของการดูซีรีส์ในแต่ละวัน อย่าใช้เวลานานเกินไป พยายามเลิกดูซีรีส์ในช่วงกลาง ๆ เรื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์อยากดูต่อ คอยเตือนตนเองเสมอเรื่องผลเสียของการดูซีรีส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
2.ตั้งเป้าหมายในชีวิต เพิ่มทักษะที่ต้องการพัฒนาของตนเอง มุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายและเริ่มลงมือทำ โดยลดเวลาการดูซีรีส์ลง หากิจกรรมอย่างอื่นแทนการดูซีรีส์ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ไปเที่ยว
3.มีการพักเบรก พักสายตาจากหน้าจอทุก 30-40 นาที ลุกไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้าง ขยับตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ โดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ลุกเดินเป็นพัก ๆ
4.ดูซีรีส์ร่วมกับเพื่อน คนในครอบครัว เพื่อให้ได้มีการพูดคุยกัน เป็นการคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง
5.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เว้นช่วงเวลาการดูให้ห่างจากระยะเวลาก่อนนอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ผ่อนคลายสามารถพักผ่อนได้เต็มที่
6.เมื่อลด ละ เลิก พฤติกรรม Binge watching ได้แล้ว ควรเริ่มทำตารางกิจวัตรประจำวันของตนเอง กำหนดเวลาตื่น เวลาเข้านอน เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน ปรับสมดุลร่างกายให้กลับมามีสุขภาพที่ดีดังเดิม
แม้หลายคนจะเสพสื่อเพื่อความบันเทิง แต่มีคนจำนวนไม่น้อยใช้สื่อบันเทิงเป็นทางออกของการรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้า ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การนอนหลับ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรม Binge-Watch อย่างไรก็ตาม การมองเห็นปัญหาที่แท้จริงจะช่วยให้รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว