เหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ?
ผู้จะฝึกเจริญมรณสติ
เพียงในระดับความคิด
อาจเริ่มง่ายๆด้วยการถามตนเองว่า
ถ้าต้องตายในนาทีนี้
เราจะนึกถึงอะไร?
การเตรียมใจไว้ล่วงหน้าสำคัญมาก
เพราะเมื่อถึงเวลาจริง จิตจะได้มีทิศทาง
มีที่เกาะ หรือมีที่พึ่งอันสุกสว่างจากกลางใจ
ไม่ใช่ต้องมามัวลังเลอยู่
บนทางสองแพร่ง หรือร้อยแพร่ง
คำแนะนำที่ดี คือ
ให้ระลึกถึงบุญที่เคยทำแล้วชื่นใจที่สุด
นึกถึงทีไรแล้วเบาอก หัวโล่ง ล้นสุขเหนือสิ่งอื่นใด
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ผู้จะฝึกเจริญมรณสติ
ให้ถึงระดับจิต
อาจอาศัยสถานการณ์น่าหวาดเสียวบางอย่าง
เช่น
ขณะนั่งอยู่ในรถที่แล่นเร็ว
ลองนึกว่า
ถ้าจะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำคอหักตายเดี๋ยวนี้
ใจเราจะประหวั่นสั่นไหว
หรือสงบนิ่งเป็นปกติได้?
หรือขณะล่องเรือ
อยู่ในห้วงน้ำใหญ่ คลื่นลมแรง
ลองนึกว่าถ้าเรือล่ม
เป็นเหตุให้ขาดใจตายในน้ำ
ใจเราจะดิ้นรน
หรือสงบระงับ?
หรือขณะอยู่บนเครื่องบิน
ที่ตกหลุมอากาศ ฟ้าคะนอง
ลองนึกว่าถ้าเครื่องตก
ต้องร่างกายแหลกเหลว
ใจเราจะประหวั่นพรั่นพรึง
หรือสงบได้ไม่หวั่นไหว?
คำแนะนำที่ดี คือ ให้สังเกตว่า
คุณสะกดจิตตัวเองให้สงบสุขไม่ได้
ถ้าสะสมบาปไว้มาก
พอจวนตัว ใจจะดิ้นรน หวาดกลัว
แต่หากสะสมบุญไว้พอ
เมื่อถึงคราว ใจจะนิ่งเย็น อบอุ่น
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ผู้ต้องการฝึกเจริญมรณสติ
ให้ถึงระดับปัญญา
ต้องเจริญสติมาตามลำดับ
รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก
กระทั่งเกิดสมาธิ
เห็นลมหายใจ
ด้วยจิตเหมือนตาเห็นรูป
แล้วเห็นกาย
อันเป็นที่เข้าออกของลมหายใจนี้
ทั้งขณะกายนิ่ง
ทั้งขณะกายเคลื่อนไหว
กระทั่งรู้ว่า
ภายใต้เนื้อหนังห่อหุ้ม
คือตับไตไส้พุง
เห็นซึ้งว่าตับไตไส้พุง
คือธาตุดิน
น้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง
คือธาตุน้ำ
ลมหายใจเข้าออก
คือธาตุลม
ไออุ่นที่แผ่ไป
คือธาตุไฟ
โพรงว่างและช่องกลวงต่างๆ
คือธาตุอากาศ
และเห็นว่าผู้รู้ผู้ครองร่าง
คือธาตุวิญญาณ
เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นอยู่เรื่อยๆ
ด้วยการทำไว้ในใจว่า
ธาตุทั้งหลายไม่เที่ยง
คุมรูปอยู่ได้
ด้วยวิบากกรรมและอาหารเป็นคำๆ
ในที่สุดต้องเสื่อมสภาพลงเป็นธรรมดา
ด้วยปัญญาเห็นธรรมชาติความจริงเช่นนั้น
ในที่สุดจะเกิดการแสดงทางธรรมชาติของกาย
มีผมหงอก มีฟันหลุด
มีกระดูกเป็นท่อนๆ
แยกจากกันแบบต่างคนต่างไป
แล้วมีความเน่าเปื่อยผุพัง
กลายเป็นผงหายวับ
แล้วกลับคืนรูปใหม่ วนไปเวียนมา
จนกว่าจิตจะแจ่มแจ้งเป็นอิสระจาก
ความเป็นกายและความเป็นศพ
รู้ว่ากายและศพไม่ใช่ตัวตน
ไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ตัวเรา
แจ่มแจ้งว่าเมื่อพ้นอุปาทานถึงขีดสุด
จะเป็นผู้รอดจากการตาย
เพราะรอดจากการเกิดใหม่
ที่ใดไม่มีความเกิด ที่นั้นย่อมไม่มีความตาย!
อ้างอิง : ดังตฤณ





















