Dark Empaths บุคลิกภาพสุดย้อนแย้ง พฤติกรรมด้านมืดของการใช้ความเข้าอกเข้าใจ มองหาช่องว่าง เพื่อหลอกใช้คนอื่น
Dark Empaths’ มาจากคำเต็ม ๆ ว่า Dark Empathy คำนิยามใหม่ทางจิตวิทยา ที่อธิบายบุคลิกภาพแบบหนึ่งของมนุษย์ งานวิจัยให้คำอธิบายของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Dark Empaths ว่า คนกลุ่มนี้จะมีบุคลิกภาพด้านมืดที่แสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ คนกลุ่มนี้จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูง สามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนรอบตัวได้ดี
บุคลิกภาพแบบ Dark Empaths พบได้มากใน ผู้ชาย ลักษณะเด่น คือ มีความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเปิดกว้างสูง เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี มีความเป็นมิตร เข้าสังคมเก่ง มีความเป็นผู้นำ และมีความสามารถในหลากหลายด้าน ในอีกมุมหนึ่ง Dark Empaths เป็นบุคลิกภาพที่น่ากลัว เพราะ คนกลุ่มมีลักษณะด้านมืดที่อยู่ข้างในตัวเขา อย่างเช่น การหลงตัวเอง บ้าอำนาจ ชอบบงการ
บุคลิกภาพแบบ Dark Empaths เป็นบุคลิกภาพ ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง บุคลิกภาพด้านมืด และบุคลิกภาพที่มีความเห็นอกเห็นใจ อยู่ที่ว่าจะมีลักษณะบุคลิกภาพที่ค่อนไปในทางไหนมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับการเลือกแสดงบุคลิกภาพด้านใดออกมาให้คนอื่นได้รับรู้มากกว่า ท้ายที่สุด ลักษณะที่พวกเขาเลือกแสดงออกมากกว่า อาจทำให้เขากลายเป็นคนที่มีบุคลิกในด้านนั้นเพียงอย่างเดียวก็ได้
Dark Empaths ถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ในรายงานเรื่อง Journal Personality and Individual Differences ให้คำจำกัดความพฤติกรรม Dark Empaths คือ นิสัยแย่ ๆ ที่เคลือบแฝงมาในรูปของการมี Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจคนอื่นในระดับที่สูง แต่กลับเป็น Empathy ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง
Nadja Heym นักวิชาการด้านจิตวิทยาบุคลิกภาพ มหาวิทยาลัย Nottingham Trent ผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้อธิบายว่า Dark Empaths อาจเป็นด้านมืดของ Affective Empathy หรือความสามารถในการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น สัมผัสความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดี และรู้สึกเข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายในระดับเข้มข้น แต่พอเป็น Dark Empaths ยังเหนือกว่าตรงที่คาดเดารีเเอ็กของอีกฝ่ายได้ด้วยว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และเมื่อเข้าใจทั้งหมดนั่นแล้วก็ทำให้สามารถ ‘ควบคุม’ อีกฝ่ายได้แบบอยู่หมัด ทีนี้จะลาก จะจูงไปไหนก็ทำได้ไม่ยากแล้ว
ความร้ายกาจของ Dark Empaths คือ การลักลอบ ฉกฉวยโอกาส มองหาช่องว่างในช่วงเวลาที่อีกฝ่ายกำลังอ่อนไหว อ่อนแอ หรือรู้สึกไม่มั่นคง ด้วยพฤติกรรมที่ดูเหมือนแคร์ แต่จริง ๆ อาจจะไม่ได้แคร์ขนาดนั้น หากใครโดนเข้า คงรู้สึกสับสน เหมือนอยู่ในเกมปั่นประสาทไม่น้อย
นักจิตวิทยา บอกว่า พฤติกรรม Dark Empaths อาจเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพด้านมืด 3 อย่าง คือ
- Machiavellianism นิสัยเจ้าเล่ห์ ชอบหลอกลวง หลอกใช้คนอื่นเพื่อสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง
- Narcissism นิสัยหลงตัวเอง ชื่นชมตัวเองอย่างหนัก
- Psychopathy นิสัยโหดเหี้ยม ไร้สำนึกถูกผิด ไร้ความเห็นอกเห็นใจ
บุคลิกภาพเหล่านี้ จะนำไปสู่การ Manipulate (ควบคุม ชักจูง) และ Exploit (เเสวงหาประโยชน์) ในทางใดทางหนึ่ง
บทความของ Theguardian ที่ใช้คำว่า Dark Empaths เหมือน ‘good and evil wrapped up in the same package’ หมายความว่า พวก Dark Empaths จะมาหาเราได้ในแบบทั้งเป็นพระเจ้าและปิศาจในเวลาเดียวกัน โดยที่เราเองก็ยากจะดูออก ยิ่งในเวลาอ่อนไหวด้วยแล้ว มนุษย์ Dark Empaths ยิ่งเป็นอันตรายกับใจเราเข้าไปใหญ่ Dark Empaths มักเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติก มากกว่า ในชุดความสัมพันธ์อื่น ๆ
จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังถูกหลอกใช้ด้วยพฤติกรรม Dark Empaths
นักจิตวิทยา Nadja Heym บอกว่า อย่างน้อย ๆ เวลาเจอคนที่มี Empathy สูง ๆ อยากให้ตั้งใจมองดี ๆ ว่าในทุก ๆ ความเข้าอกเข้าใจ และภายใต้ความแคร์ที่ดูมากมายนั้นมันมีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่หรือเปล่า มีอะไรไหมที่เขาคนนั้นดูใจดีแค่กับเรา หรือกับบางคนมากเป็นพิเศษ แต่กลับใจร้ายกับคนอื่น ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือ บางครั้งที่รีเเอ็กของเราไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง ความใจร้ายนั้นก็ย้อนกลับมาหาตัวเราเองแทน ด้วยการที่เขา ‘ปั่น’ ให้เรารู้สึกผิดหรือด้อยค่าคล้าย ๆ กับ Gaslight เราอยู่ในที
การสังเกตว่าเขามักมีปฏิกิริยาแบบเร็ว ๆ กับคนที่พบเจอกันชั่วคราวอย่างไร โดยเฉพาะกับคนที่เขาคิดว่าอยู่ในสถานะด้อยกว่าตัวเอง ไปจนถึงวิธีการที่เขาจะพูดถึงคนอื่น วิธีที่เขาเล่นมุกตลกถึงสิ่งต่าง ๆ เขาคิดว่าตัวเองเหนือกว่า แล้วกดคนอื่นให้ตัวเล็กกว่าเขาไหม ไปจนถึงวิธีที่เขาเลือกว่าจะคบหากับใคร เขาเรียกคนลักษณะแบบไหนว่าเป็นเพื่อน
การมีอยู่ของ Dark Empaths ช่วยย้ำเตือนเราว่าบางครั้งความละเอียดอ่อน ความเข้าอกเข้าใจ กับความไม่เเยเเสใครเลยนอกจากตัวเองก็สามารถมาพร้อม ๆ กัน ในตัวคน ๆ เดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเองนี่แหละที่ต้องระวัง ไม่ปล่อยใจไปกับความรู้สึกปลอดภัยที่เห็นตรงหน้าเร็วเกินไปนัก
















