โรคย้ำคิดย้ำทำ ไม่มั่นใจ กังวล ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นผลให้ต้องทำกิจกรรมนั้นซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้เกิดความสบายใจ
โรคย้ำคิดย้ำทำ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีความไม่มั่นใจ กังวล ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นผลให้ต้องทำกิจกรรมนั้นซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้เกิดความสบายใจ
ซึ่งผู้ป่วยก็รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นไม่จำเป็น แต่ ไม่สามารถหยุดสิ่งที่ทำอยู่ได้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้ทำได้ เมื่อทำแล้วจะทำให้รู้สึกคลายความกังวล ก่อนที่จะเริ่มกังวลใหม่อีกครั้ง และจะใช้เวลามาก ๆ ในการกระทำเรื่องนั้น จำนวนหลาย ๆ ครั้ง ด้วยความเครียด กังวล หรือ ไม่อาจจะควบคุมการกระทำได้ พฤติกรรมแบบนี้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยตรง
หากกระทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ 1-2 ครั้ง เพื่อความสบายใจไม่นับเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
สาเหตุของ โรคย้ำคิดย้ำทำ
1.การทำงานของสมอง และ ระบบประสาทที่ผิดปกติ ทำให้ส่งผลต่อความรู้สึกที่แสดงออกมา
2.พันธุกรรม พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคย้ำคิดย้ำทำ จากอัตราการเกิดโรคนี้ในแฝดไข่ใบเดียวกันมีถึง 60-90% ในขณะที่พบในประชากรทั่วไปเพียง 2-3%
3.ปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น พบเจอประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็ก ถูกทารุณกรรมทั้งทางกาย ทางใจ ปัญหาชีวิตที่รุนแรงเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ จะเกิดอาการได้ 2 ส่วนคือ การย้ำคิด และ การย้ำทำ
1.การย้ำคิด เป็นการคิดถึงสิ่งหนึ่งวนไปวนมาแต่ยังไม่ตัดสินใจลงมือทำ
-กลัวความสกปรกมากกว่าปกติ
-เกิดความไม่สบายใจ เมื่อเห็นความไม่เป็นระเบียบ สิ่งของที่จัดไม่เท่ากัน ไม่เรียบร้อย ไม่สมดุล
-วิตกกังวลในการใช้ชีวิต เช่น คิดว่าลืมปิดเตาแก๊ส ลืมล็อกประตู
2.การย้ำทำ ผู้ป่วยจะทำทุกอย่างมากกว่าปกติ
-ล้างมือบ่อยเกินความจำเป็น
-ทำความสะอาดสิ่งของซ้ำ ๆ
-ตรวจความเรียบร้อยบ่อย ๆ เช่น เช็กว่าปิดแก๊สหรือยัง ? ปิดไฟห้องน้ำหรือยัง ? ล็อกประตูหรือยัง ? เดินวนไปทำหลาย ๆ ครั้ง
-จัดวางสิ่งของแบบที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ต้องหันไปทิศทางเดียวกันทั้งหมด
-มักจะต้องทำทุกสิ่งให้ครบตามจำนวนที่ตนเองกำหนดไว้
-ชอบเก็บสะสมสิ่งของมากเกินความจำเป็น
การป้องกันโรคย้ำคิดย้ำทำ
-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
-ผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรม เช่น ดูหนัง เล่นโยคะ ฟังเพลง
-พยายามเสริมความมั่นใจให้กับตนเอง หลีกเลี่ยงความคิดที่เป็นกังวล
-พยายามเพิกเฉยต่อความคิดที่เป็นการย้ำคิด และ ลดหรือหยุดการกระทำที่เป็นการย้ำทำ
-หากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป
โรคย้ำคิดย้ำทำอาจไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่หากปล่อยไว้จะสามารถสร้างความลำบากในชีวิตประจำวัน และ คนรอบข้าง แม้การบำบัดอาจจะลำบากแต่ถ้าพยายามจะสามารถหายจากโรคนี้ได้ ปัจจุบันนี้มียาที่สามารถช่วยบรรเทา ควบคุมอาการ รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย ซึ่งการใช้ยานั้นโดยปกติยาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิด ย้ำทำนี้มักจะใช้ยาในกลุ่มแก้โรคซึมเศร้า ซึ่งก่อนรับยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ พูดคุยอย่างละเอียดเสียก่อน
















