ฝึกดูลมหายใจ ลงท้ายไม่รู้สึกถึงจิต ยังไม่นับเป็นอานาปานสติ
ฝึกดูลมหายใจ
แต่ลงท้ายถ้าไม่รู้สึกถึงจิต
ก็ยังไม่นับเป็นอานาปานสติ
อย่างมากก็แค่ทรมานใจตัวเอง
ด้วยการฝืนหายใจไปเปล่าๆเท่านั้น!
เกินกว่าครึ่ง
หรืออาจจะเกิน ๙๐%
ของผู้ที่คิดว่าตนเองฝึก ‘อานาปานสติ’
ไปได้ถึงแค่ความรู้สึกว่ามีลมหายใจเข้าออก
ไม่รู้สึกถึงความไม่เที่ยงของลม
ไม่รู้สึกว่าลมสักแต่เป็นธาตุพัดไหว
ไม่รู้สึกว่ามีจิตเป็นแก่นสาร
ไม่รู้สึกว่ามีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูกองลมทั้งปวง
ในอานาปานสติสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่ต้นว่า
ให้มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
*** เพื่อ*** สังเกตว่า ลมมีทั้งสั้น มีทั้งยาว
และ ‘เราจักเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง’
ซึ่งถ้าเชื่อท่าน ทำตามท่านสอน
ก็จะพบว่า ‘ตัวเราผู้ดูลม’
ก็คือจิตอันว่างเปล่าจากอุปาทาน
ว่างเปล่าจากความรู้สึกว่าลมคือเรา เราคือลม
แล้วลิ้มรสความนิ่ง เย็น สงบสุข
รู้สึกถึงจิตได้ชัด
หลังจาก ‘ดูลมจนเห็นจิต’
ไม่ว่าการปรุงแต่งจิตใดๆเกิดขึ้น
จะสบายก็ดี จะอึดอัดก็ดี
จะเป็นความฟุ้งซ่านก็ดี
จะเป็นความสงบก็ดี
ย่อมเห็นทั้งหมดว่าสักแต่เป็นของชั่วคราว
ก่อตัวขึ้นมาได้ ก็สลายตัวลงไปได้
ไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน ในแต่ละลมหายใจ
เมื่อเห็นการปรุงแต่งของจิตว่าไม่เที่ยง
ความรู้สึกว่ามีตัวตนย่อมหายไป
เหลือแต่ความสงบระงับกายใจ
เห็นลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก
มีปีติ มีสุขอันเยือกเย็นอยู่
โดยไม่รู้สึกว่าปีติสุขเป็นของตน
นั่นเองความสามารถในการเห็นกายใจ
โดยความเป็นแค่ ‘เปลือกที่ไม่น่ายึด’
จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญอานาปานสติ
โดยความเป็นยอดแห่งกรรมฐาน
ฝึกได้ตั้งแต่ผู้เริ่มสนใจเจริญสติ
ไปจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
แต่ยุคเราติเตียนอานาปานสติกันมาก
เพียงเพราะไม่รู้จะดูลมให้เป็นสุขได้อย่างไร
และยิ่งไม่เข้าใจวิธี ‘ดูลมจนเห็นจิต’
เพื่อต่อยอดเป็นการเจริญสติที่แท้จริงกัน!
อ้างอิง : ดังตฤณ














