ความจริง หรือ ความเท็จ กับความเชื่อ ก่อนและหลังการออกกำลังกาย
ความเชื่อ 1 ห้ามดื่มน้ำก่อนออกกำลังกาย จะทำให้จุก
ความจริง การดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนออกกำลังกายทันทีอาจทำให้จุกแน่น เนื่องจากน้ำยังไปไม่ถึงทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ตามควรดื่มน้ำประมาณ 200 – 300 cc. ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 นาที
หากต้องเสียเหงื่อมากระหว่างออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือ ออกกำลังกายหลังตื่นนอน เพราะร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานานจากการนอนหลับ รวมถึงควรจิบน้ำทีละน้อย ๆ แต่จิบบ่อย ๆ ในขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
ความเชื่อ 2 ออกกำลังกายขณะท้องว่าง ช่วยเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้น
ความเท็จ การออกกำลังกายขณะท้องว่างจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง
ดังนั้นควรกินอาหารมื้อเล็ก ๆ ที่ย่อยได้ง่าย ก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เช่น กล้วยหอมครึ่งผล ลูกเกด แครกเกอร์ชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารเตรียมพร้อมให้มีพลังงานในการออกกำลังกาย
สำหรับการเผาผลาญไขมันได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบและระยะเวลาในการออกกำลังกาย หากต้องการเผาผลาญไขมันจะต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิคนาน 30 นาทีขึ้นไป ซึ่งร่างกายจะดึงพลังงานทั้งจากไขมัน และ โปรตีนจากกล้ามเนื้อออกมาใช้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย ควรสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเวทเทรนนิ่งควบคู่ไปด้วย
ความเชื่อ 3 เหงื่อออกมาก ยิ่งเผาผลาญแคลอรี่มาก
ความเท็จ เหงื่อออกมากขณะออกกำลังกายเกิดจากการขับน้ำเพื่อลดอุณภูมิของร่างกาย ส่วนการเผาผลาญแคลอรี่ขึ้นอยู่กับกิจกรรม และ ระยะเวลาของการออกกำลังกาย จะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน การที่เหงื่อออกมากกลับทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดบาดเจ็บ เป็นตะคริว หากขาดน้ำมากเกินไปอาจทำให้หน้ามืดเป็นลม หรือ เกิดโรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
ดังนั้นหากมีเหงื่อออกมากขณะออกกำลังกายควรจิบน้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน หรือ การออกกำลังกายกลางแจ้ง
ความเชื่อ 4 วิ่งมากๆ เข่าจะเสีย
ความจริง ลักษณะการวิ่งที่มีผลเสียกับเข่าคือ การวิ่งที่ก้าวยาวเกินไป (overstride) ซึ่งทำให้ปลายเท้ายื่นเกินปลายเข่า ทำให้จังหวะก้าวลงพื้นจะลงด้วยส้นเท้า เกิดแรงไปกระทำที่ข้อลูกสะบ้าเข่าสูง มีผลให้เกิดการบาดเจ็บกับลูกสะบ้า
เพื่อลดการเกิดการวิ่งก้าวยาวเกินไป อาจจะเปลี่ยนด้วยการซอยเท้าวิ่งให้ถี่ขึ้น ควรมีจังหวะก้าว 180 ก้าวต่อนาที หรือ 3 ก้าวต่อ 1 วินาที ร่วมกับการงอลำตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย จะช่วยลดการบาดเจ็บที่ผิวข้อลูกสะบ้าเข่าได้
ความเชื่อ 5 ออกกำลังกายเยอะ จะนอนไม่หลับ
ความจริง การออกกำลังกายที่มีความหนักหน่วง ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) เตัวกระตุ้นระบบอัตโนมัติของร่างกาย สาเหตุของการนอนไม่หลับ ดังนั้นไม่ควรออกกำลังกายหักโหมก่อนเข้านอน แต่การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การยืดเส้น ร่างกายจะหลั่งสาร เอ็นดอร์ฟิน (endorphin) จะทำให้ร่างกายผ่อนคลาย นอนหลับง่ายขึ้น
หากเลี่ยงไม่ได้ อาจจะเพิ่มระยะเวลาในการวอร์มดาวน์ ยืดเส้นยืดสายให้นานขึ้น หลังจากออกกำลังกายหนัก ๆ
ความเชื่อ 6 ห้ามอาบน้ำทันที หลังออกกำลังกาย
ความจริง หลังการออกกำลังกาย ร่างกายจะยังคงมีอุณหภูมิสูง มีการระบายความร้อนของร่างกายผ่านทางรูขุมขนผิวหนัง เมื่อต้องอาบน้ำเย็นทันที ส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนัง และ รูขุมขนหดตัวทันที ส่งผลเสียต่อร่างกายในการปรับอุณภูมิอย่างกะทันหัน
ดังนั้นหลังออกกำลังกายทุกครั้งควรทำให้ร่างกายเย็นลง (cool down) ประมาณ 10-15 นาที ให้ระดับชีพจรและอุณหภูมิร่างกายลดลงสู่ระดับปกติ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกาย
