รักแรกพบ (Love at first sight) งานวิจัยเผย รักแรกพบไม่มีจริง เป็นเพราะฮอร์โมน มากกว่า ความรัก
รักแรกพบไม่มีจริง ทดลองจากการออกเดทของนักศึกษาต่างประเทศ
งานวิจัยทดลองจากการออกเดทของนักศึกษาต่างประเทศ ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารงานวิจัย The International Association for Relationship นักวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รักแรกพบ จากการศึกษาการออกเดทของนักศึกษาชาวดัตช์ และชาวเยอรมัน ทำการทดลองทั้งหมด 500 ครั้ง กับจำนวนนักศึกษา 200 คน ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ปี
ผลการทดสอบสรุปว่า มีรักแรกพบ เกิดขึ้น 49 ครั้ง เกือบทั้งหมดเกิดจากความต้องการในเรื่องทางเพศ เพราะหลงใหลในรูปร่างหน้าตา โดยผู้ที่เข้าทดลองในงานวิจัยนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 60% แต่อาการรักแรกพบนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่า
มีการวิจัยออกมาว่า การที่คุณเจอใครสักคนแล้วรู้สึกเหมือนจะตกหลุมรักเขา แล้วคิดว่า คือ รักแรกพบ แท้จริงแล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับความรัก แต่คือ แรงดึงดูดทางกาย ( Physical Attraction ) อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เหมือนกับเวลาเราเจอคนที่หน้าตาตรงสเปค มีหุ่นร่างกายตรงสเปค ที่สำคัญการมองดูคนคนหนึ่งแค่ผิวเผิน ไม่สามารถมีความรู้สึกถึงขั้นที่เรียกว่า “รัก” ได้
Dr. Simone Humphrey และ Dr. Signe Simon นักจิตวิทยาได้กล่าวว่า “เรามักจะสับสนระหว่างความรักและความหลงใหล เพราะทั้งสองความรู้สึกนั้นกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ที่คล้ายคลึงกันในสมอง” ช่วงของการตกหลุมรักสมองจะหลั่งสารโดปามีน กระตุ้นให้บุคคลนั้นแสวงหาความใกล้ชิดและความสนิทสนมนั่นเอง
สรุปได้ว่า จริง ๆ แล้ว ความรู้สึกรักตั้งแต่แรกพบ นั่นไม่ใช่ความรัก แต่เป็นแรงดึงดูดทางกายมากกว่า
ความรัก หรือ ความใคร่
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สของสหรัฐฯ ชี้ว่าความรักสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอารมณ์ความรู้สึก 3ประเภทใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 1.ราคะ (lust) หรือความต้องการทางเพศ 2.ความรู้สึกดึงดูดใจ (attraction) 3.ความผูกพันยึดติด (attachment)
อารมณ์ทั้ง 3 ประเภทนี้ผสมปนเปในสัดส่วนที่แตกต่างกัน แต่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ส่งเสริมกันและกัน โดยจะค่อย ๆ มีพัฒนาการจากราคะไปสู่ความผูกพัน จนสามารถประกอบสร้างขึ้นมาเป็นรักแท้ได้ในที่สุด
บทความทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Endocrinology and Metabolism เมื่อปี 2016 ระบุว่าอารมณ์ทั้ง 3 ที่เป็นองค์ประกอบของความรักนั้น ต่างแยกกันเกิดขึ้นในกระบวนการทางสมองที่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง
โดยแต่ละอารมณ์มีวงจรการทำงานของสมองและสารสื่อประสาทเป็นของตนเอง ฮอร์โมนเพศ อย่าง เอสโตรเจน และ เทสโทสเตอโรน ควบคุมโดยสมองส่วนอะมิกดาลา เป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้คนเราเกิดความใคร่ หรือ ความต้องการทางเพศ
ความรู้สึกดึงดูดใจที่มีต่อเพศตรงข้าม ถูกควบคุมโดยศูนย์การให้รางวัล และความเครียดในสมอง มีสารสร้างความสุขโดพามีน ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน และฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลเป็นสารสื่อประสาท สำหรับความรู้สึกผูกพันยึดติดนั้น ฮอร์โมนออกซิโทซินและวาโซเพรสซินจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงมองว่า รักแรกพบ ยังไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกของรักแท้ แต่เป็นเพียงการถูกดึงดูดใจโดยฝ่ายตรงข้ามในระยะแรก ซึ่งยังไม่ครบองค์ประกอบของกระบวนการทางสมองที่จะก่อให้เกิดความรักโดยสมบูรณ์
ดร. เดบอราห์ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ชาวอังกฤษ กล่าวอธิบายในประเด็นนี้กับเว็บไซต์ Live Science ว่า “ความรักต้องใช้เวลาในการก่อกำเนิด และพัฒนาไปสู่ความรู้สึกที่มั่นคงลึกซึ้ง นักจิตวิทยาส่วนใหญ่จึงมองว่า รักแรกพบที่เกิดขึ้นเมื่อเพียงแรกสบตากันนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน คุณอาจหลงใหลในรูปลักษณ์และรู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศอย่างมากในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเราจะตกหลุมรักกับนิสัยใจคอ รวมทั้งคุณค่าที่ยึดถือและทักษะต่าง ๆ ที่คนผู้นั้นมีอยู่แทน”
ดร.อีริก ไรเดน นักจิตวิทยาคลินิกชาวอังกฤษฟันธงว่า รักแรกพบ ที่แท้เป็นเพียงความใคร่ หรือ ราคะเท่านั้น “ความรู้สึกหลงใหลเหมือนต้องมนต์อยู่ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าหากคุณกำลังมองหาคู่ชีวิตที่จะอยู่กันไปนาน ๆ รักแรกพบไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกว่าเขาหรือเธอคือคนที่ใช่ มันเป็นเพียงแรงดึงดูดทางกาย มากกว่า เป็นความรักโรแมนติกที่ยั่งยืน”

















