จุดเริ่มต้นของการกินอาหาร 3 มื้อ กินอาหารครบ 3 มื้อ ก่อนบ่าย 3 โมง ช่วยลดน้ำหนัก-ดีต่อสุขภาพ
จุดเริ่มต้นของการกินอาหาร 3 มื้อ
เริ่มต้นขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่มนุษย์ทำงานกันอย่างเป็นระบบเวลามากขึ้น มีการกำหนดเวลาการทำงาน จึงทำให้เกิดการกำหนดเวลาในการกินอาหารขึ้นมาเป็นมื้อเช้า กลางวัน และเย็น เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานมากขึ้น
นักประวัติศาสตร์ Abigail Carroll (อบิเกล แคร์โรลล์) ผู้เขียน Three Squares: The Invention of the American Meal ได้เผยว่า ในสมัยก่อน ชาวพื้นเมืองอเมริกันใช้ระบบการกินแบบหิวเมื่อไหนก็กินตอนนั้น แต่เมื่อชาวยุโรปเข้ามาในแผ่นดินได้มองว่าการกินแบบไม่ได้กำหนดเวลาเป็นการกระทำที่ไม่ดีงาม การกินอาหาร 3 มื้อจึงได้เกิดขึ้นมาแทนการหิวเมื่อไหนก็กินตอนนั้นนั่นเอง
การกินอาหาร 3 มื้อ เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 17 โดยทุกชนชั้นในสังคม เริ่มมีการกินอาหารมื้อเช้าขึ้น ส่วนรูปแบบอาหารจะแตกต่างกันไปตามฐานะทางสังคม
ในช่วงระหว่างปี 1920-1930 รัฐบาลสหรัฐฯ มีการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนรับประทานมื้อเช้าก่อนไปโรงเรียน เพื่อจะได้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียน มากกว่า ความหิว ส่งผลให้ความเชื่อนี้ได้ถูกส่งต่อมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน
ส่วนมื้อกลางวัน ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทางการจะกำหนดเวลาให้ 1 ชั่วโมงในการกลับบ้านเพื่อไปกินข้าว หรือหาซื้ออาหารกลางวันกิน ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้น ทำให้มีการสร้างโรงอาหารขึ้นมา เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลความปลอดภัยของผู้คนมากขึ้น
สำหรับมื้อเย็นในช่วงศตวรรษที่ 19 ถือว่าเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง จึงนิยมทำอาหารเย็นอย่างอลังการอย่างใน Fanny Cradock (แฟนนี่ แครดด็อค) รายการทำอาหารที่ให้แม่บ้านมาแข่งทำอาหารเย็นกัน จนรายการนี้เป็นกระแสดังในปี 1970 เลยทีเดียว
กินอาหารครบ 3 มื้อ ก่อนบ่าย 3 โมง ช่วยลดน้ำหนัก-ดีต่อสุขภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คอร์ตนีย์ พีเตอร์สัน จากมหาวิทยาลัยแอละแบมา วิทยาเขตเบอร์มิงแฮมของสหรัฐฯ (UAB) ได้ทดสอบเทคนิคการอดอาหารแบบจำกัดเวลากินไว้ในช่วงเช้า (eTRF) ว่าจะช่วยในการควบคุมน้ำหนักและส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ได้ดีกว่าเทคนิคการอดอาหารแบบอื่นจริงหรือไม่
กำหนดให้กลุ่มทดลองที่เป็นชาย 8 คน แต่ละคนมีน้ำตาลในเลือดสูงและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เข้ารับการควบคุมช่วงเวลารับประทานอาหาร โดยเริ่มกินมื้อแรกของวันตั้งแต่เวลา 6.30 - 8.30 น. และให้กินมื้อต่อไปให้ครบ 3 มื้อ ภายในเวลาราว 6 ชั่วโมงหลังจากนั้น อาหารที่รับประทานเป็นเมนูแบบเดียวกับของชาวอเมริกันทั่วไป และให้กินในปริมาณปกติ
เมื่อถึงเวลา 15.00 น. กลุ่มทดลองจะต้องไม่รับประทานสิ่งใดอีกเลยจนกระทั่งเข้านอน เท่ากับว่าจะต้องอดอาหารเป็นเวลาราว 18 ชั่วโมงในแต่ละวัน
หลังการทดลองเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มทดลองทั้งหมดมีน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ตับอ่อนทำงานตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในร่างกายได้ดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง ภาวะเครียดจากอนุมูลอิสระที่มีมากเกินสมดุล (Oxidative stress)หายไป และกลุ่มทดลองมีความรู้สึกอยากอาหารในช่วงกลางคืนลดลงด้วย
การทดลองครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของโลกที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การที่น้ำหนักตัวลดลงหลังอดอาหารในช่วงเวลาจำกัด ไม่ได้เกิดจากการรับประทานในปริมาณน้อยลง แต่เป็นเพราะได้ปรับสมดุลระบบเผาผลาญให้สอดรับกับวงจรนาฬิการ่างกายมากกว่า ดังที่เห็นได้จากกลุ่มทดลองในครั้งนี้ ซึ่งลดน้ำหนักได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชนิดอาหารหรือลดปริมาณที่เคยรับประทานลงแต่อย่างใด
















