ทึ่งทั่วไทย : งาช้างดำ สมบัติคู่เมืองน่าน
หากเอ่ยถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน หนึ่งในสิ่งล้ำค่าที่ไม่ควรพลาดชมคือ "งาช้างดำ" สมบัติอันทรงคุณค่าที่ได้รับการเก็บรักษาและสืบทอดมาตั้งแต่ยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน งาช้างดำมีลักษณะเป็นงาปลี คือมีความยาวไม่มากนัก แต่มีขนาดวงรอบที่ใหญ่ สีของงาช้างเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีจารึกอักษรธรรมล้านนา โดยข้อความที่ปรากฏสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า "กิ่งนี้หนัก 15000"
งาช้างดำเมืองน่านมีขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่กว้างที่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีโพรงลึกบริเวณโคนงายาว 14 เซนติเมตร และมีน้ำหนักโดยรวม 14 กิโลกรัม จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า งาชิ้นนี้เป็นงาช้างตัน ซึ่งถูกถอดออกจากช้างที่คาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 60 ปี อีกทั้งยังสันนิษฐานว่างาชิ้นนี้เป็นงาข้างซ้าย เนื่องจากมีรอยเสียดสีกับงวงอย่างชัดเจน
ตำนานและความศักดิ์สิทธิ์ของงาช้างดำ
เชื่อกันว่า "พญาการเมือง" เจ้าเมืองพลั่ว หรือปัว องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ภูคา ซึ่งครองเมืองในช่วงปี พ.ศ. 1896-1906 ได้ทำพิธีสาปแช่งให้งาช้างดำเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง ห้ามมิให้ผู้ใดนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว โดยกำหนดให้เก็บรักษาไว้ในหอคำ หรือวังของเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น
ต่อมา เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2474 เจ้านายและบุตรหลานจึงมอบงาช้างดำให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน สำหรับฐานรองงาช้างที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น ทำจากไม้สักทั้งท่อน แกะสลักเป็นรูปครุฑแบกรับงาช้าง และถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2469
การเก็บรักษางาช้างดำ
ปัจจุบัน งาช้างดำได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งยังคงรักษาเจตนารมณ์เดิมตามคำสาปที่เคยมีมา โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็น "หอคำ" ของเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ก่อนที่เจ้านายบุตรหลานจะมอบที่ดินและอาคารทั้งหมดให้รัฐบาลใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่านในปี พ.ศ. 2475
ต่อมา เมื่อกระทรวงมหาดไทยก่อสร้างศาลากลางแห่งใหม่ กรมศิลปากรได้ขอรับมอบอาคารหอคำเพื่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดในปี พ.ศ. 2517 และต่อมาได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2528
การจัดแสดงในปัจจุบัน
ในอดีต งาช้างดำถูกจัดแสดงในตู้กระจกที่ปิดทึบด้านหลังเพื่อรักษาสภาพ แต่หลังจากมีการปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงใหม่ จึงย้ายมาตั้งไว้ที่โถงกลางชั้นสองของอาคารหอคำ ซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่เคยใช้เก็บรักษางาช้างดำมาแต่เดิม การจัดแสดงใหม่นี้มีการใช้ตู้กระจกที่ออกแบบให้เหมาะสม เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและสัมผัสกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของงาช้างดำได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
สัญลักษณ์แห่งศรัทธาและมรดกทางวัฒนธรรม
งาช้างดำไม่ได้เป็นเพียงวัตถุโบราณที่มีคุณค่าในเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาและความผูกพันของชาวน่านที่มีต่อมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะมาชมความงดงามและรับรู้เรื่องราวของสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ด้วยตนเอง



















