นักวิจัยจีนได้คิดค้นวัสดุชนิดใหม่ เปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อม เหมือนล่องหนได้
ทีมวิจัยจากประเทศจีนได้คิดค้นวัสดุพรางตัวที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อม โดยวัสดุชนิดนี้อาศัยกระบวนการพิเศษที่เรียกว่า Self-Adaptive Photochromism (SAP) ทำให้สามารถกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมได้อย่างแนบเนียนเมื่อมองด้วยตาเปล่า คล้ายกับความสามารถของกิ้งก่าหรือปลาหมึก ทีมวิจัยเชื่อว่านวัตกรรมนี้อาจนำไปพัฒนาเสื้อผ้าที่ช่วยให้ผู้สวมใส่เสมือนล่องหนได้ วัสดุ SAP ทำมาจากสีย้อมแบบออร์แกนิก และโมเลกุลที่เรียกว่า Donor-Acceptor Stenhouse Adducts (DASAs) ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้าง รวมถึงคุณสมบัติทางเคมีเมื่อสัมผัสกับแสงที่มีความยาวคลื่นเฉพาะ ส่งผลให้วัสดุ SAP สามารถเปลี่ยนสีได้ โดยมีคุณสมบัติเริ่มต้นเป็นสีดำในที่มืด จากนั้นจะเปลี่ยนสีโดยอัตโนมัติเมื่อได้รับแสงที่ส่งผ่านหรือสะท้อนจากวัตถุด้านหลัง ในการทดลอง ทีมวิจัยบรรจุสารละลาย SAP ไว้ในภาชนะใสและนำไปวางไว้ในกล่องอะคริลิคที่มีสีต่าง ๆ เช่น สีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีดำ พบว่าสารละลายสามารถเปลี่ยนสีให้ตรงกับสีของแต่ละกล่องได้ นอกจากนี้ นักวิจัยยังลองวางสารละลายไว้หน้าวัตถุที่มีสีแดง สีเขียว และสีเหลือง และสารก็เปลี่ยนสีให้กลมกลืนกับพื้นหลังได้ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งนาทีเท่านั้น วัสดุ SAP นี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีพรางตัว แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดกับนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น การเคลือบวัสดุ อุปกรณ์แสดงผล หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงสินค้า โดยทีมวิจัยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนโมเลกุลให้มากขึ้น และปรับองค์ประกอบของโมเลกุล เพื่อให้วัสดุ SAP สามารถเปลี่ยนสีได้หลากหลายและเร็วขึ้นในอนาคต