“การคิดบวก” ราวกลับอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ “อาจกลายเป็นพิษร้าย” หากต้องพยายามฝืนหลอกตัวเองว่า “ทุกอย่างจะไม่เป็นอะไร ทั้งที่ในใจแสนจะเจ็บปวด”
ประโยคที่มักจะได้ยินคำพูดให้กำลังใจจากคนรอบข้าง หรือ สื่อต่าง ๆ ที่บอกให้คิดบวกอยู่เสมอ
‘โชคดีที่ยังมีงานทำ’
‘มีคนอื่นที่แย่กว่าเราอีกเยอะ มองคนที่แย่กว่าเราซิ’
‘เรื่องแค่นี้เอง เธอนะคิดมากไป’
แต่ ‘การคิดบวก’ อาจไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจ หรือ ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เสมอไป เพราะในทางตรงกันข้ามคือ การพยายามปฏิเสธการที่มีอยู่ของอารมณ์ในแง่ลบ เช่น ความเศร้า หดหู่ ความเครียด วิตกกังวล เสียใจ ความโกรธ ด้วยการใช้คำพูดในแง่บวกกดข่มอารมณ์ลบเหล่านั้นเอาไว้ ด้วยการสร้างมายาคติว่าการแสดงออกถึงอารมณ์แง่ลบนั้นดูอ่อนแอ เป็นคนไม่น่าเข้าใกล้ จึงฝืนบังคับตนเองและผู้อื่นให้มองเชิงบวกต่อเรื่องราวที่เลวร้าย โดยภายในใจกลับรู้สึกเจ็บปวด จนปัญหาทั้งหลายที่ทับถมกลายเป็นการทำร้ายตนเอง ซึ่งสภาวะนี้คือ “Toxic Positivity” แปลว่า “ภาวะคิดบวกเป็นพิษ” จนทำให้ชีวิตเสียสมดุล
สัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะ Toxic Positivity ภาวะคิดบวกเป็นพิษ
1.ขาดความกล้าแสดงความคิดเห็น (Lack of Assertiveness) การพยายามมองโลกในแง่ดี มองหาข้อดีของเรื่องร้ายนั้น ๆ จนไม่กล้าเอ่ยปากขอรับความช่วยเหลือจากใคร ไม่กล้าพูดความรู้สึกจริง ๆ ออกมา ทำซ้ำ ๆ เป็นแบบวนลูป สุดท้ายจะบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ
2.การปรับสถานการณ์ที่ผิดปกติให้เป็นปกติ (Normalize abnormal situations) สถานการณ์ที่ผิดปกติในที่นี้ หมายถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งแบบซึ่งหน้า และ แบบทางอ้อม เช่น โดนแซงคิว โดนโยนงาน โดนแย่งผลงาน แต่ ผู้ตกอยู่ในสภาวะคิดบวกเป็นพิษ จะพยายามยอมรับความไม่ถูกต้องเหล่านั้น แล้วมองว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่แก้ไขปัญหา หรือ ป้องกันใด ๆ
3.การเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว (Ignorance) เมื่อเกิดเหตุร้ายรุนแรงขึ้นในสังคม ผู้ตกอยู่ในสภาวะคิดบวกเป็นพิษ จะเลือกไม่รับรู้เหตุการณ์ หรือ สถานการณ์นั้น เพราะไม่อยากเครียด กังวล เลือกที่จะเพิกเฉยต่อสถานการณ์รอบข้าง ส่งผลให้ไม่ทันได้ตั้งรับต่อผละกระทบที่อาจจะตามมา เช่น การพยายามใช้ชีวิตปกติในสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอื่น แต่ลืมคิดว่าไม่ได้ส่งผลเสียแค่จังหวัดที่น้ำท่วม แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อทุกคน
สัญญาณบ่งชี้เชิงคำพูดต่อการเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว (Ignorance)
• บอกปัดปัญหาแทนการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น “ขอไม่พูดถึง ไม่อยากรับรู้”
• ซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้ภายใต้คำพูดแง่บวก “ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง”
• พยายามอดทนต่ออารมณ์ความเจ็บปวด ความรู้สึกผิดที่จะเกิดอารมณ์เศร้า หรือ โกรธ “ไม่ไหวบอกไหว”
• สนใจความรู้สึกคนอื่นน้อยลง เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายใจ “ปัญหาของเขา ไม่ใช่ของเรา”
• ประณามคนอื่นเมื่อไม่คิดบวก “ทำไมไม่คิดบวกเข้าไว้”
ผลกระทบจากสภาวะ Toxic Positivity ภาวะคิดบวกเป็นพิษ
-Laura Gallagher นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge ให้คำนิยามของความคิดบวกเป็นพิษ (Toxic Positivity) ว่า เป็นสภาวะที่เราพยายามกดอารมณ์ ความรู้สึก และ ความคิดทางลบไว้ด้วยความคิดบวกแบบสุดโต่ง จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกเอาเปรียบ ความรู้สึกเก็บกดที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิต
-มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่า “คนเราจะตอบสนองอย่างไร เมื่อถูกบอกไม่ให้คิดถึงอะไรบางอย่าง ?” ผลปรากฏว่า กลับยิ่งทำให้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น และ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ให้ดูวิดีโอเรื่องหนึ่ง โดยกลุ่มหนึ่งสามารถแสดงอารมณ์ได้ปกติ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องทำเหมือนไม่รู้สึกอะไร ผลลัพธ์ชี้ว่ากลุ่มที่เก็บอารมณ์ความรู้สึก เกิดความเครียดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนี่อาจนำไปสู่ปัญหานอนไม่หลับ และ ส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยรวมได้
วิธีป้องกันและแก้ไขสภาวะ Toxic Positivity ภาวะคิดบวกเป็นพิษ
- หมั่นพูดคุยกับตัวเอง ยอมรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ที่พบเจอ อารมณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องปิดกั้น หรือ เก็บกดความรู้สึกแง่ลบไว้ เพราะยิ่งกดไว้เท่าไหร่มีแต่จะทำให้รู้สึกมากขึ้นเท่านั้น หากรู้สึกไม่ดีไม่จำเป็นต้องฝืนร่าเริง ไม่ต้องรู้สึกผิด หรือ รู้สึกแย่กับตัวเอง
- ระบายสิ่งที่อยู่ในใจ มีงานวิจัยที่พบว่า การระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด ช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ลงได้ ไม่ว่าจะอารมณ์โกรธ เศร้า หรือ ความเจ็บปวดทางใจก็ตาม โดยการพูดกับใครสักคนที่พร้อมรับฟัง หรือ เขียนลงในไดอารี่ เป็นการบอกสมองให้ปล่อยผ่านอารมณ์ลบ ทำให้คิดพะวงถึงเรื่องนั้นน้อยลง
- มองโลกตามความเป็นจริง โดยพิจารณาสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม อีกทั้งการมองโลกตามความเป็นจริงยังช่วยให้เรายอมรับตนเองได้มากขึ้นทั้งข้อดี และข้อเสีย ให้เราพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม