ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลาย อาจทำให้ภูเขาไฟนับร้อยลูกเกิดการปะทุขึ้นมาได้
ในทวีปแอนตาร์กติกา นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นทวีปที่หนาวเย็นและโดดเดี่ยวที่สุดแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังมีภูเขาไฟ จำนวนมากที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมา แม้ว่าภูเขาไฟส่วนใหญ่จะสงบนิ่ง ไร้การเคลื่อนไหว หรือซ่อนอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งมานานเป็นพันปี แต่ก็มีการคาดเดากันว่าภูเขาไฟเหล่านี้อาจจะปะทุขึ้นใหม่ได้ เนื่องมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งโดยรอบ ในปัจจุบันที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกากำลังละลายอย่างรวดเร็วในระดับที่น่าตกใจ และเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียส การละลายอย่างช้าๆ ของน้ำแข็งอาจทำให้จำนวนและขนาดของการปะทุของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจใช้เวลาหลายร้อยปี การสูญเสียน้ำแข็งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจกระตุ้นให้ภูเขาไฟในแอนตาร์กติกาตื่นขึ้นได้ ซึ่งคล้ายกับที่เกิดขึ้นในช่วงที่น้ำแข็งละลายก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้แมกมาที่ถูกอัดตัวขยายตัว กระบวนการนี้เพิ่มแรงดันบนผนังโพรงแมกมา ก๊าซที่ติดอยู่ในแมกมาจะถูกปล่อยออกมาเหมือนฟองในขวดแชมเปญที่ไม่ได้เปิดก๊อก อาจกระตุ้นให้เกิดภูเขาไฟปะทุได้ แม้ว่าการปะทุเหล่านี้จะเกิดขึ้นใต้พื้นผิวและอาจมองไม่เห็น แต่ก็อาจส่งผลร้ายแรงได้ ความร้อนจากการปะทุของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งสามารถเร่งการละลายใต้พื้นผิว ทำให้แผ่นน้ำแข็งอ่อนตัวลง และอาจนำไปสู่กิจกรรมของภูเขาไฟเพิ่มเติม ในตอนนี้ ทวีปแอนตาร์กติกามีภูเขาไฟที่ค้นพบแล้วมากกว่า 130 แห่ง หลายลูกอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง แต่มีบางลูกที่ถือว่ายังปะทุอยู่ หากภูเขาไฟเหล่านี้ฟื้นคืนชีพ อาจทำให้เกิดวงจรป้อนกลับระหว่างภูเขาไฟและน้ำแข็งที่ละลายเป็นวงกว้าง สาเหตุหลักมาจาก เถ้าถ่านสีเข้มที่ภูเขาไฟปลดปล่อยออกมาทำให้สะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อยลง เนื่องจากพื้นผิวสีเข้มของขี้เถ้าจะดูดซับความร้อนได้มากกว่าเมื่อเทียบกับพื้นผิวขาวของหิมะ กิจกรรมของภูเขาไฟที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งหนาภายในทวีปจำนวนมากไหลลงสู่มหาสมุทร ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น