“กิน” “นอน” “อยู่” อย่างไร ให้ห่างไกลโรค?
1.หลังตื่นนอน ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ เป็นมื้อแรก เพราะทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลได้ น้ำตาลตกในระหว่างวัน ทำให้หิวบ่อย และ ทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องน้ำตาลทำงานผิดปกติ (Insulin) ควรดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว ทันทีที่ตื่นนอน เพื่อช่วยเติมน้ำให้ร่างกายที่สูญเสียไประหว่างการนอนหลับ
2.ควรตื่นนอนเพื่อมาออกกำลังกายในช่วงเวลา 6-7 โมง หรือ 7-8 โมง เพราะ จะช่วยเติมความสดชื่นให้กับร่างกาย เนื่องจากอากาศในตอนเช้าจะมีมลพิษอยู่น้อย และ การได้รับวิตามินจากแดด จะช่วยให้ร่างกายถูกกระตุ้น กล้ามเนื้อเริ่มทำงาน มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ดึงไขมันสะสมมาใช้ระหว่างวันได้เยอะขึ้นอีกด้วย
3.ควรกินอาหารเช้าก่อน 9 โมง ช้าสุดไม่ควรเกิน 10 โมงเช้า หากเลยช่วงเวลานี้ไปจะทำให้ฮอร์โมนตก ฮอร์โมนไม่อยู่ในสมดุล ส่งผลให้ของเสีย อุจจาระ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดอีกครั้ง เกิดสารพิษในเซลล์มากขึ้น ทำให้เซลล์เสื่อม
4.มื้อเช้าควรรับประทานอาหารให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่เพียงแค่ดื่มกาแฟและกินขนมปังเท่านั้น ให้เน้นอาหารจำพวกโปรตีนและผักเป็นหลัก
- ผัก ผลไม้ มีวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง ช่วยป้องกันโรค ชะลอความแก่ ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โดยขอแนะนำให้กินผลไม้แบบออร์แกนิก หรือ แบบปลอดสารพิษ เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในร่างกาย
- ธัญพืชไม่ขัดสี มีกากใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ ช่วยให้ดูอ่อนเยาว์ มีสุขภาพดี
- โปรตีนไขมันต่ำ ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมัน กระชับสัดส่วน และ ลดไขมันหน้าท้องได้
5.เคี้ยวอาหารให้ละเอียด 10-15 ครั้งต่อคำ การเคี้ยวอาหารนาน ๆ จะทำให้กินอาหารได้น้อยลง คนเราทั่วไปจะเริ่มอิ่มหลังจากกินไปแล้ว 10-15 นาที ดังนั้นถ้ารีบเคี้ยว รีบรับประทานอาหารให้เสร็จภายใน 5 นาทีแรก จึงยังรู้สึกไม่อิ่ม ทำให้บริโภคอาหารเยอะกว่าปกติ
6.กินอาหารหลากหลาย เคล็ดลับกินอย่างไรให้สุขภาพดีอย่างหนึ่ง คือ อย่ากินอาหารประเภทเดียวกันซ้ำ ๆ เพราะจะทำให้ขาดสารอาหารบางชนิดได้ โดยใน 1 สัปดาห์ ควรจะกินอาหารที่แตกต่างกัน 30 ชนิดขึ้นไป
- เลือกเมนูที่มีส่วนประกอบที่หลากหลาย เช่น แกงเลียง แกงจืด ต้มยำ ผัดผักรวม
- กินเครื่องเคียงที่อยู่ในจาน เช่น กินน้ำพริกกับผักต้ม
- กินผักผลไม้หลากสี ไม่เลือกกินสีใดสีหนึ่ง
7.ร่างกายต้องการได้รับ น้ำ อย่างน้อย 30-35 ซีซี ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโล เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 1,800-2,100 ซีซี ต่อวัน ถ้าร่างกายได้รับน้ำน้อยเกินไปจะทำให้เซลล์ขาดน้ำ เลือดเป็นกรด ทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลได้ง่าย เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา
8.ทำกิจกรรมที่ลดความเครียด ทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้ฮอร์โมนเข้าสู่ภาวะสมดุล เช่น นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก สวดมนต์ ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้ ทำงานศิลปะ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ
9.หลัง 2 ทุ่มไปแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายที่หักโหม เพราะจะไปกระตุ้นฮอร์โมนที่ไม่ดี ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้นอนหลับยากขึ้นในบางคน ถ้าจะออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังกายที่เบา ๆ เช่น โยคะ ไทเก๊ก
10.ไม่ควรนอนดึก เข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม และ ปิดมือถือก่อนนอน ปิดไฟ ปิดผ้าม่านให้มืดสนิท เพื่อให้เมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนแห่งการชะลอวัยเข้าสู่สมดุล
11.จำนวนชั่วโมงในการนอน ไม่สำคัญเท่าการตั้งต้นของการนอน คือ ฮอร์โมนที่ดีจะมีเวลาในการหลั่ง โดยเวลานอนที่ดีที่สุด ควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เพื่อหวังผลเรื่องโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) และ หลับยาวไปจนถึง ตี 4 ครึ่ง หรือ ตี 5 ไม่ควรตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะจะเป็นการขัดขวางการหลั่งของฮอร์โมนที่ดี
12.ก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำเยอะ หรือ ดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เพราะเป็นตัวขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้ลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนดึก โดยร่างกายจะขับปัสสาวะออกมาหลังจากดื่มน้ำไปแล้ว 1.5 – 2 ชั่วโมง
การกิน การอยู่ และ การนอน เป็นเรื่องที่สำคัญ หากกินดี กินอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ห่างไกลโรค การอยู่ด้วยร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่เบิกบาน จะช่วยให้สามารถรับมือและจัดการเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ลดความเครียดระหว่างวันที่ต้องพบเจอได้ ในขณะที่นอนหลับ จะมีการปรับฮอร์โมนในร่างกาย การได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายและจิตใจมีความพร้อมหลังจากการตื่นนอนเพื่อรับมือกับเช้าวันใหม่ 3 สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน หากจัดการทั้ง 3 สิ่งได้อย่างสมดุล จะทำให้ สุขภาพกายแข็งแรง สุขจิตใจเบิกบาน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี