อานาปานสติ แบบที่จะช่วยให้รู้กายใจเป็นอัตโนมัติ
ถ้าจับจุดถูก
คุณจะมีหลักรู้
จนเกิดสติเป็นอัตโนมัติได้เรื่อยๆ
เพื่อจับจุดถูก
คุณต้องทำความรู้จัก
ศูนย์กลางอันเป็นจุดเริ่มต้น
ของสติแบบรู้กายใจ
พระพุทธเจ้าเน้น
ให้อาศัยอานาปานสติ
เป็นศูนย์กลางสติ
อานาปานสติที่ถูกต้อง
จะฝึกให้คุณรู้ลม
ในแบบรู้ทั้งตัว
ไม่ใช่รู้แค่ลม
พูดง่ายๆ คือ วิธีที่คุณรู้ลม
จะเป็นตัวตัดสินว่า
นั่นใช่อานาปานสติ
แบบที่จะช่วยให้รู้กายใจเป็นอัตโนมัติ
ในระหว่างวันได้หรือไม่
ถามตัวเอง
ณ ขณะกำหนดรู้ว่า
กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก
คุณรู้แต่ลมหายใจอย่างเดียวหรือเปล่า?
หากทั้งหมดของความรับรู้
ทุ่มใส่ลมหายใจอย่างเดียว
ขอให้ทราบว่า แบบนั้นคือการล็อกติด
อยู่กับส่วนย่อยส่วนเดียว
ทำให้สติไม่พัฒนาไปถึงไหน
ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป
ยิ่งจ้องแต่ลมหายใจเข้าออกนานขึ้นเท่าไร
ยิ่งแก้ความเคยชินยากขึ้นเท่านั้น
แต่หากศึกษาแผนที่มาดี
ก็จะเริ่มสังเกตลมถูก
เริ่มง่ายที่สุด
ถามตัวเอง
ณ ขณะกำหนดรู้ว่า
กำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก
วินาทีนั้นคุณรู้ไปด้วยไหมว่า
กำลังหายใจอยู่ในอิริยาบถไหน?
หลังตรงหรือหลังงอ?
มีกายร่วมอยู่กับการรู้ลมไหม?
เมื่อแน่ใจว่า
ทุกครั้งที่สังเกตลม
สังเกตการมีอยู่ของกาย
กายปรากฏในความรับรู้ไปด้วยแล้ว
แบบเป็นอัตโนมัติ
ไม่ได้รู้สึกฝืดฝืน
ให้ถามตัวเองอีกว่า
เมื่อรู้กาย
รู้แบบแห้งๆ
หรือรู้ไปด้วยว่า
ในอิริยาบถนั้นๆ
มีความสบายหรืออึดอัด
คุณจะค่อยๆเห็นรายละเอียด
เช่น หายใจอึดอัด คือหายใจสั้น
นั่งอย่างอึดอัด คือนั่งเกร็ง
หายใจสบาย คือหายใจยาวราบรื่น
เดินสบาย คือเดินแบบผ่อนคลายสบายตัว
เอาแค่รู้ลมหายใจ
ไปพร้อมรู้อิริยาบถ (นั่งเดินท่าไหน หลังตรงหรืองอ)
รู้เวทนา (อึดอัดหรือสบาย)
ก็จัดเป็นตัวตั้งที่ดี
ที่เมื่อทำให้ชินแล้ว
คุณจะพบว่าเกิดสติได้เรื่อยๆ
ในทุกสถานการณ์ที่กายใจไปปรากฏ
ถัดจากนั้น
ขั้นที่ละเอียดขึ้น
คือ รู้จิต เริ่มจากเห็นว่า
กำลังสงบหรือฟุ้งซ่าน
มีสภาพปรุงแต่งเป็นกุศลหรืออกุศล
เมื่อรู้เห็นได้เรื่อยๆโดยไม่ต้องตั้งใจ
ก็นั่นแหละ ที่คุณจะรู้กับตัวว่า
ฝึกสติมาถูกทาง
จนเกิดความเป็นอัตโนมัติแล้ว
การเจริญสติภาวนา
โดยปราศจากอานาปานสติที่ถูก
เปรียบเหมือนปีนเขาด้วยมือเปล่า
สำหรับคนส่วนใหญ่
ไม่นานก็ตกลงมา
แล้วก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จากความงง
จะกี่เดือนกี่ปีผ่านไปก็ตาม!