ข้อมูลจากบริษัทวิจัย พบว่าข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพใน TikTok เป็นข้อมูลเท็จถึง 45% โดยพุ่งเป้าไปที่วัยรุ่นเป็นหลัก
ปัจจุบันนี้ ติ๊กต็อก มีอิทธิพลต่อโลกโซเชียลมีเดียมาก ด้วยคลิปสั้นที่มีเนื้อหาตัดจบแบบฉับไว ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น สุขภาพ ความงาม ไลฟ์สไตล์ หรือแม้กระทั่งการซื้อขาย ประหนึ่งตลาดขายของที่มาแรงแซงเจ้าอื่นๆ ในทางกลับกัน แม้ว่าจำนวนติ๊กต็อกเกอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มักทำให้ผู้รับสารมักเชื่อข้อมูลที่ได้มาแบบไม่ได้กลั่นกรองเช่นกัน รายงานจาก บริษัทวิจัยด้านสุขภาพ (Tebra) พบว่า คำแนะนำทางการแพทย์ 45% ที่เผยแพร่ผ่านติ๊กต็อกเป็นเท็จหรืออาจทำให้เข้าใจผิดได้ โดยพบว่า วิดีโอที่เกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกมีข้อมูลไม่ถูกต้องมากที่สุดถึง 67% เช่น การใส่หัวหอมในถุงเท้าเพื่อรักษาหวัด, การเอากลีบกระเทียมยัดจมูกเพื่อรักษาการติดเชื้อไซนัส ส่วนหัวข้อสุขภาพสตรีและสุขภาพทั่วไปก็ไม่ได้ดีขึ้นมาก โดยมีคำแนะนำในแต่ละหมวดหมู่ที่ไม่ถูกต้องถึง 54% ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีอัตราข้อมูลเท็จต่ำสุด คือ 31 % วิดีโอเกี่ยวกับการดูแลตัวเองและสุขภาพ แย่ลงในระดับ 37 % ในขณะที่คำแนะนำเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่เป็นเท็จ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดมีอัตราถึง 39% ในขณะที่ผู้อัดคลิปลงแพลตฟอร์ม มักใช้วิธีข่มขวัญ หรือบางรายก็แอบอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เพื่อหากำไรจากการขายอาหารเสริม ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ได้ผล และเป็นอันตรายจนถึงที่สุด นับเป็น 17% ของผู้ใช้ชาวอเมริกันที่เชื่อข้อมูลจากติ๊กต็อกพอๆกับหมอ และอีก 7% ไว้วางใจแพลตฟอร์มมากกว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลร้ายแรงได้ เนื่องจากผู้ใช้ในสหรัฐเกือบครึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ดังนั้น แพลตฟอร์มนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวมคำแนะนำเท็จ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่วัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง