ไขมันพอกตับ สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็สามารถเป็นไขมันพอกตับ ได้เช่นกัน !!
ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) เป็นภาวะที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร และ ดื่มแอลกอฮอล์ จนเกิดการสะสมของไขมันบริเวณตับที่มากเกินมาตรฐานของคนทั่วไป โดยจะกินพื้นที่ของตับ 5-10 % จะทำให้ตับเกิดการอักเสบ หรือ เซลล์ตับตาย และเกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด หนึ่งในภัยเงียบเนื่องจากอาการที่ไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน หรือ ไม่แสดงความเจ็บปวดอย่างชัดเจน และ สังเกตได้ยาก
สาเหตุของไขมันพอกตับ
- การดื่มแอลกอฮอล์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ที่ดื่ม เช่น ดื่มมานานแค่ไหน อายุ และ ปริมาณการดื่มต่อวัน เป็นต้น
ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ !! แต่สามารถเป็นไขมันพอกตับเพราะแบบนี้
- โรคประจำตัวอื่น ส่วนมากแล้วโรคที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงไขมันพอกตับ จะเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับน้ำหนัก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ และ นำไปสู่โรคมะเร็งตับได้
- กินอาหารปนเปื้อน เช่น สารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) หรือเชื้อรา ที่พบมากใน ถั่วลิสง ธัญพืช พริกแห้ง กระเทียม
- เนื่องจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B หรือ C เรื้อรัง
- พฤติกรรมการกิน เช่น กินอาหารปิ้งย่างบ่อยเกินไป อาหารประเภทของทอด ของมัน ขนมนมเนย และ เครื่องดื่มที่มีรสหวานเป็นประจำ การกินอาหารที่มีพลังงานสูงจำพวกไขมัน แป้ง น้ำตาลมากเกินไป
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือ ยาต้านไวรัสบางชนิด เป็นต้น
พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเซลล์ตับ และ ทำให้ตับเกิดการกระตุ้นให้มีไขมันสะสมในตับมากขึ้นจนกลายเป็นไขมันพอกตับ
กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อไขมันพอกตับ
- บุคคลที่เป็นโรคอ้วน เช่น ผู้ชายที่มีรอบเอวเกิน 40 นิ้ว และผู้หญิงที่มีรอบเอวเกิน 35 นิ้ว เป็นต้น
- บุคคลที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ
- บุคคลที่มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- บุคคลที่เป็นโรคเบาหวาน และ มีน้ำตาลในเลือดสูง 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- บุคคลที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
สังเกตอาการเตือนโรคตับ
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ผิวเหลือง ตาเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ท้องอืด เหมือนมีแก๊สในกระเพาะ
- คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำหนักตัวลด, ใต้ชายโครงด้านขวามีอาการตึง
- เหนื่อยไม่มีแรง
- เกิดน้ำคั่งที่บริเวณขา และท้อง
การดูแลรักษาผู้ป่วยไขมันพอกตับ
- ลดน้ำหนัก ให้ลดประมาณเดือนละ 1 - 2 กิโลกรัม จะสามารถช่วยลดอาการอักเสบในตับ ลดความรุนแรงของพังผืดได้
- ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดการดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของไขมันพอกตับ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 30 นาที
- รักษาโรคที่เป็นอยู่ หากป่วยเป็นโรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไขมันพอกตับ ให้รักษา และ กินยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรกินอาหารเสริมด้วยตนเองหากแพทย์ไม่อนุญาต
ไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่อันตรายอย่างมาก เพราะภาวะนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการใดออกมา จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ยาก รู้ตัวอีกทีอาจจะรุนแรงถึงระยะที่ 3 และ 4 แล้ว หากสังเกตเห็นความผิดปกติในร่างกายของตนเอง และอาจเข้าข่ายว่าจะเป็นไขมันพอกตับ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รักษา รับคำแนะนำในการป้องกันตนเอง