วิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ แบบไม่ต้องพึ่งยา ทำได้เองที่บ้าน
1.ดื่มน้ำเปล่า
จากการศึกษาพบว่า การขาดน้ำเรื้อรัง คือ สาเหตุหลักของอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็ง และปวดหัวไมเกรน และผู้ที่มีอาการปวดหัวรุนแรงส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำ ในแต่ละวันควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หรือกินอาหารที่มีน้ำเยอะ อย่างเช่น แตงโม ส้ม โยเกิร์ต เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ที่ไม่เพียงทำให้ปวดหัว แต่ยังทำให้ไม่มีสมาธิ และหงุดหงิดง่ายด้วย
2.เสริมแมกนีเซียม
มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ผู้ที่ปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ เกิดภาวะขาดแมกนีเซียมบ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ปวดหัว และการกินอาหารเสริมแมกนีเซียมซิเตรตวันละ 600 มิลลิกรัมสามารถลดอาการปวดหัวไมเกรนได้
3.ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผลการวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ปวดหัวเป็นประจำ เกิดอาการไมเกรนหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางคนปวดหัวแบบกล้ามเนื้อเกร็ง หรือปวดหัวแบบชุด ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ปัสสาวะบ่อย เป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และอิเล็กโทรไลต์ จนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งทำให้อาการปวดหัวแย่ลงได้
4.นอนหลับให้เพียงพอ
การศึกษาวิจัยในผู้ที่ปวดหัวรุนแรงเป็นประจำชิ้นหนึ่ง พบว่า อาสาสมัครที่นอนหลับวันละไม่ถึง 6 ชั่วโมงมีอาการปวดหัวรุนแรงและบ่อยกว่าอาสาสมัครอีกกลุ่มที่นอนหลับนานกว่า อาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายต้องการการพักผ่อน เมื่อมีอาการปวดหัวอาจลองหยุดทำงานและพักสายตาหรืองีบสัก 10 นาที เพราะการทำงานต่อทั้งที่มีอาการปวดหัวจะยิ่งทำให้ปวดหัวมากขึ้น
5.ใช้น้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยบางชนิดนั้นมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ อย่างเช่น
- น้ำมันลาเวนเดอร์ ช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนและอาการร่วม
- น้ำมันเปปเปอร์มินต์ ช่วยลดอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็ง หรือปวดหัวจากความเครียด
- น้ำมันยูคาลิปตัส ช่วยลดอาการปวดหัวจากไซนัส
โดยสามารถสูดดม สเปรย์ลงบนหมอน หยดลงในอ่างอาบน้ำ และนวดบริเวณศีรษะ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
6.งดอาหารที่มีฮีสตามีนสูง
ฮีสตามีน มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร และระบบประสาท พบได้ในอาหาร อย่างเช่น อาหารหมักดอง เบียร์ ไวน์ ปลารมควัน เนื้อสัตว์หมักเกลือ จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่ไวต่อฮีสตามีน หรือร่างกายไม่สามารถย่อยฮีสตามีนได้ตามปกติมีแนวโน้มปวดหัวบ่อย การงดบริโภคอาหารที่มีฮีสตามีนสูงจึงอาจช่วยแก้ปวดหัวสำหรับผู้ที่ปวดหัวเป็นประจำได้
7.ประคบเย็น
โดยให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เจลเย็นสำเร็จรูป หรือน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าสะอาดแล้วนำมาประคบบริเวณที่รู้สึกปวด อย่างเช่น หน้าผาก ขมับ รอบดวงตา และท้ายทอย จะช่วยลดการอักเสบ ชะลอการทำงานของเส้นประสาท และทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้ การวิจัยในอาสาสมัครหญิง 28 คนพบว่า การประคบเย็นช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนได้เป็นอย่างดี
8.จิบเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
การจิบเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ช่วยให้ตื่นตัว ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และจำกัดการไหลเวียนของเลือด ทำให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอาการปวดหัวแบบชุด ๆ และอาการปวดหัวไมเกรน ควรบริโภคคาเฟอีนแต่พอดี เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะถอนคาเฟอีน หรืออาการลงแดง เมื่อไม่ได้รับคาเฟอีน ซึ่งทำให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม
การดื่มชาสมุนไพรอุ่น ๆ อย่างเช่น ชาขิง ชาคาโมมายล์ (Chamomile Tea) และชาเปปเปอร์มินต์ (Peppermint Tea) ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดหัว แต่ผู้มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาโรคใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาสมุนไพร เพราะสมุนไพรเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่และประสิทธิภาพของยาได้
9.ฝังเข็ม
จากการวิจัยกว่า 22 ชิ้น ซึ่งมีอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 4,400 คน พบว่า การฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดไมเกรนได้ดีเทียบเท่ากับการกินยา ทั้งยังได้ผลดีและปลอดภัยกว่ายากันชัก (Anticonvulsants) ที่ใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรนเรื้อรังด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการฝังเข็ม ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรเลือกฝังเข็มกับแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตฝังเข็มอย่างถูกต้อง
10.ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย
อย่างเช่น เล่นโยคะ ฝึกการหายใจ นั่งสมาธิ ชมภาพยนตร์ เล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย เลือกฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายควรเป็นเพลงที่มีจังหวะช้า ๆ ฟังสบาย ไม่ควรเลือกเพลงที่มีจังหวะรุนแรง เพราะในบางคนอาจทำให้เกิดความรู้สึกตึงเครียดมากขึ้นได้ งานวิจัยในอาสาสมัครที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเรื้อรัง 60 คน พบว่า กลุ่มที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันร่วมกับฝึกโยคะ มีอาการปวดหัวไมเกรนและอาการร่วมน้อยกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว
11.นวดผ่อนคลาย
การนวดผ่อนคลายที่คอ ไหล่ และขมับ ประมาณ 2-3 นาทีสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยบริเวณลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็ง หรือปวดหัวจากความเครียดได้
12.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างเช่น การเดิน การวิ่ง หรือว่ายน้ำ สามารถช่วย แก้ปวดหัว ได้ การศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เสี่ยงปวดหัวง่ายกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่หลังออกกำลังกาย อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
13.หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวดหัว
การอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เสียงดัง มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นเหม็น และที่กลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้มากขึ้น โดยอาการปวดหัวของแต่ละคนอาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างกัน จึงควรสังเกตปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวและหลีกเลี่ยงสถานที่นั้นก็อาจช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้