มะกล่ำตาหนู
มะกล่ำตาหนู มะกล่ำเครือ หรือ ก่ำเคือ (อังกฤษ: Jequirity) เป็นพืชไม้เถาในวงศ์ถั่ว เมล็ดมีพิษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Gunja" ในภาษาสันสกฤต เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย เติบโตได้ดีในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ทำให้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่รุกรานในพื้นที่ที่มะกล่ำตาหนูถูกนำเข้ามา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะกล่ำตาหนูเป็นพรรณไม้เถา ลำต้นเล็ก มีขนสั้น ๆ ขึ้นประปราย ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันคล้ายขนนก ยาวประมาณ 3.8-10 ซม. ใบย่อยเป็นรูปกลมถึงรี ปลายใบแหลมมน โคนใบกลมมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ใบมีขนาดยาว 5-20 ม.ม. กว้างประมาณ 3-8 ม.ม. ใต้ท้องใบมีขนเล็กน้อย ดอกเป็นช่อตามบริเวณง่ามใบ ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเรียงซ้อนกันตามเข็มนาฬิกา กลีบมีรอยหยัก 4 รอย สีขาว ผิวข้างนอกมีขนนุ่มปกคลุม ผลเป็นฝัก พองเป็นคลื่นเมล็ด ฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝักอ่อนมีสีเขียว เนื้อเปลือกฝักจะเหนียว เมื่อแก่จะแตกอ้าออกจากกัน ข้างในมีเมล็ด 1-5 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปกลมรี สีแดง บริเวณขั้วมีจุดสีดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เมล็ดเหนียวและแข็ง
อาการเป็นพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู
สารเป็นพิษคือสารในกลุ่ม toxalbumin (abrin) ผู้ป่วยที่กลืนเมล็ดมะกล่ําตาหนูจะมีช่วงภาวะที่อาการพิษยังไม่แสดงในช่วงระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน จากนั้นพิษจะทำให้เกิดผลต่อระบบและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ความรุนแรงของพิษจะมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดที่รับประทาน สภาวะร่างกาย และอายุของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้ โดยผลของความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ จะเป็นดังนี้
- ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ สารพิษ Abrin จะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย กลืนลำบาก และปวดเกร็งท้อง และยังอาจไปทำลายเยื่อบุเมือกของลำไส้เล็ก ทำให้อาเจียนเป็นเลือด และมีเลือดออกทางอุจจาระได้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด พิษจะไม่มีผลต่อหัวใจโดยตรง แต่อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการช็อก และหัวใจเต้นเร็ว หลังจากที่ผู้ป่วยอาเจียนและท้องเสียอยู่นาน สารพิษจะมีฤทธิ์โดยตรงต่อเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดตกตะกอนและแตกตัว จนอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้
- ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดการขาดเลือดหรือออกซิเจนจนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำและช็อก
- ระบบประสาทส่วนกลาง อาจพบว่ามีอาการเซื่องซึม ประสาทหลอน มือสั่น ชักกระตุก มีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น เลื่อนลอย เพ้อ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัว
- ระบบทางเดินปัสสาวะ จะมีปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน การอุดตันของท่อปัสสาวะด้วยฮีโมโกลบินที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย ซึ่งมีผลส่งเสริมทำให้ไตวาย[8] ทำให้มีเลือดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะน้อยเนื่องจากเซลล์ไตถูกทำลาย
- ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็ง มือสั่น และผิวหนังแดง
- ผลต่อตา หู คอ จมูก อาจมีอาการเลือดออกในเรตินา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับสารพิษ ทำให้การมองเห็นลดลง และหากตาโดนสารพิษจะทำให้เยื่อบุตาบวมและแดงมาก นอกจากนี้การกลืนลงไปอาจทำให้ระคายเคืองที่คอได้
- ผลต่อตับ สารพิษจะมีฤทธิ์ไปทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อของตับ
- ผลต่อเมแทบอลิซึม การอาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดออก จะนำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจเกิดการเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว โดยผลของการอาเจียนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะด่างในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการช็อกและไตวาย อาจทำให้เกิดภาวะกรดเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งเป็นผลมาจากการรบกวนสมดุลของสภาวะกรดเบสในร่างกาย การที่ร่างกายสูญเสียน้ำจะส่งผลโดยตรงต่อไต ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะยูรีเมียตามมาได้
ตัวอย่างผู้ได้รับพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนู
- เด็กเคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดพิษ มีอาการชัก รูม่านตาขยายกว้าง ประสาทหลอน และผิวหนังแดงเพราะเลือดสูบฉีด
- เด็กหญิงอายุ 2 ปีรับประทานเมล็ดมะกล่ําตาหนู แล้วทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารนาน 4 วัน และภายหลังได้เสียชีวิตลงเนื่องจาก acidosis
- เด็กชาย 9 ปีรับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการชัก และหมดสติ
- เด็กชายอายุ 9 และ 12 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 เมล็ดหรือมากกว่า พบว่ามีอาการอาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง และมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดขึ้นตามมา 1 สัปดาห์ ในขณะที่เด็กอีกคนยังคงมีเลือดออกทางทวารหนักนานต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือน
- ผู้ใหญ่เคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ภายใน 1 ชั่วโมง และอาเจียนติดต่อกันอีกหลายครั้งภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีอาการท้องเสีย เสียดท้อง เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และยืนไม่ได้
วิธีแก้พิษมะกล่ำตาหนู
- การช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่รับประทานไปไม่เกิน 30 นาที ให้รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเมล็ดออก โดยรับประทานน้ำเชื่อม ipecac (แต่ผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ห้ามทำให้อาเจียนหรือมีอาการบวมของคอหอย) และให้เก็บเมล็ดที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป และหากเป็นไปได้ให้เอาของเหลวที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาใส่ขวดสะอาด แล้วนำไปตรวจสอบว่าเป็นพืชพิษชนิดใด ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ก็ให้ใช้วิธีการล้างท้องแทน (แต่การล้างท้องอาจใช้ไม่ได้ผลหากผู้ป่วยกลืนเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ลงไป) จากนั้นจึงให้ทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ โดยนำผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ (เช่น ปริมาณเลือด ระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด ปริมาณยูเรีย ควีอะดินินในเลือด ข้อมูลตับ และผลวิเคราะห์ปัสสาวะ) มาใช้ประกอบการรักษาด้วย
- ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับพิษทางการรับประทาน ให้ลดปริมาณของสารพิษในกระเพาะอาหารโดยการใช้ activated charcoal เพื่อดูดซับสารพิษ (ล้างกระเพาะ) แล้วตามด้วยการให้ยาถ่ายจำพวก magnesium citrate และให้สารอาหารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายแล้วรักษาตามอาการ โดยระยะเวลาที่ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตคือช่วงหลังจากได้รับพิษในช่วง 36-72 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยไม่เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าว แสดงว่าสามารถรอดชีวิตได้[11]
- ในกรณีที่คนไข้เสียน้ำมาก อันเนื่องมาจากการอาเจียนและอาการถ่ายท้อง ควรให้เกลือแร่อิเล็กโทรไลต์ และติดตามระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด แก้ไขภาวะ metabolic acidosis ถ้าหากมีอาการเกิดขึ้น การสูญเสียน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อกที่มาจากการขาดเลือดร่วมกับมีความดันโลหิตต่ำ
- ในกรณีที่คนไข้มีอาการชัก ก็ให้ยาต้านอาการชัก เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) (แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก อาจให้ไดอะซีแพมชนิดเหน็บทวาร) ให้ยาบรรเทาอาการระคายคอ (เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและคอหอย) ให้อาหารแป้งกับผู้ป่วย (เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการพิษต่อตับ) และให้ความเย็นกับผู้ป่วย ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อน (เพราะอากาศร้อนจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการพิษเพิ่มขึ้น)
- ในกรณีที่ผู้ป่วยกลืนเมล็ดแก่โดยไม่เคี้ยว เมล็ดจะผ่านเข้าไปในลำไส้และออกมาโดยไม่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงอาจให้รับประทานยาระบายเพื่อเร่งการขับออกของลำไส้ แต่ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเป็นพิษเกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้คนไข้ท้องเสียอย่างรุนแรงขึ้น และสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น
- ในกรณีผู้ป่วยได้รับพิษสัมผัสทางผิวหนัง ให้รีบลดความเข้มข้นในการปนเปื้อน ด้วยการล้างผิวหนังที่สัมผัสด้วยน้ำและน้ำสบู่ในปริมาณมากๆ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับพิษโดยการหายใจ การช่วยเหลือคือ ให้การรักษาตามอาการของลักษณะผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมน้ำ และต้องรับการช่วยเหลือเรื่องการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ
ประโยชน์ของมะกล่ำตาหนู
- ใบใช้ตำพอกเพื่อแก้จุดด่างดำบนใบหน้าได้
- ในประเทศอินเดียมีการนำสาร Glycyrrhizic มาใช้เป็นสารหวานแทนชะเอม
- เมล็ดมีพิษใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้ ด้วยการใช้เมล็ดมะกล่ำตาหนูนำมาบดให้ละเอียด แช่ในน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำมากรองเอากากออก แล้วนำน้ำหมักเข้มข้นที่กรองได้มาผสมกับน้ำสะอาดอีก 20 ลิตร แล้วนำไปใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงผักต่อไป ส่วนอีกวิธีให้ใช้เมล็ดบดผง 1 กิโลกรัมผสมกับแอลกอฮอล์ 95% ปริมาณ 5 ลิตร ปิดฝาภาชนะแล้วหมักไว้นาน 24 ชั่วโมง ส่วนอัตราการนำไปใช้ ให้ใช้สารสกัด 1 ลิตรต่อน้ำ 180 ลิตร นำไปฉีดพ่นในนาข้าว จะสามารถป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของสารควรผสมหางไหลและหนอนตายหยากที่บดเป็นผงแล้ว เพื่อทำให้ฤทธิ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมีมากขึ้น
- เมล็ดสามารถนำมาใช้ร้อยเป็นสร้อยสำหรับสวมคอและข้อมือได้