มาเลเซีย เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับประกอบเป็นผู้ออกแบบ โดยดัน "ปีนัง" ให้เป็นฮับด้านชิปและเทคโนโลยีระดับโลก
เมื่อเอ่ยถึงชื่อเกาะปีนัง คนมักจะนึกถึงเกาะเล็กๆเกาะหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย ในวันนี้เกาะนี้กำลังกลายเป็น ฮับเทคโนโลยีระดับโลก ที่น่าจับตามอง ด้วยความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำให้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีการแพทย์ที่กำลังเติบโตเร็ว ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก้าวกระโดด อีกทั้งชิปและแผงวงจร ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ตั้งแต่มือถือไปจนถึงรถยนต์เลยทีเดียว ครั้งนี้มาเลเซียเห็นเมกะเทรนด์แห่งอนาคตนี้ และวางแผนพัฒนาประเทศให้เป็น ฮับด้านชิปและเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี 2515 โดยเริ่มจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่รัฐปีนัง พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้บริษัทผลิตชิปเข้าไปลงทุน จนทำให้เหล่าบริษัทด้านชิปไม่ว่า Intel, AMD, HP, Hitachi, National Semiconductor, Renesas ฯลฯ เข้าไปตั้งฐานการผลิตในมาเลเซียได้สำเร็จ ในปัจจุบัน มาเลเซียมาพร้อมความทะเยอทะยานที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อประเทศกำหนดเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยี จากเดิม รับจ้างประกอบชิป สู่ การออกแบบชิป แทน และที่ตั้งฮับด้านนี้ก็ไม่ใช่ที่อื่นไกล ก็คือ รัฐปีนัง ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะ มีสะพานเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ และอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมที่รัฐปีนังต้องการเน้น คือ เทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยรัฐบาลได้เปิดตัวโครงการริเริ่ม Silicon Design @5km+ เพื่อผลักดันให้ปีนังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการออกแบบวงจรรวม และนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมสร้างระบบนิเวศในชื่อว่า เขตอุตสาหกรรมเสรี Bayan Lepas Free Industrial Zone นั่นเอง