UNCCD เผยข้อมูลอันน่าตกใจว่า โลกแห้งแล้งหนักสุดรอบ 30 ปี น้ำขาดแคลน ผลิตอาหารได้น้อยลง เกิดภัยพิบัติทั่วโลกและมีทะเลทรายเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลนี้เป็นการรายงานของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หรือ UNCCD ได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2020 พื้นที่กว่า 77.6% ของโลกแห้งแล้งลง และพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่แห้งแล้งขยายตัวออกไปประมาณ 4.3 ล้านตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40% ของโลก ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา พื้นที่เกือบ 8% ของโลกได้เปลี่ยนจากพื้นที่ไม่แห้งแล้งไปสู่พื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งหลายพื้นที่เคยเป็นพื้นที่ชื้นมาก่อน และพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีก 3% กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 และพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ของโลกเกือบ 1 ล้าน ตร.กม.เสื่อมโทรมลงทุกปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกแห้งแล้งขึ้น หากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดอุณหภูมิลงได้ ภาวะแห้งแล้งอาจส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ เผชิญกับพายุทรายและฝุ่น ไฟป่า การขาดแคลนน้ำ จนทำให้พืชผลเสียหาย และกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด ในตอนนี้มีประชากรเกือบ 33% ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 1990 ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นแหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ เช่น อาร์เจนตินา สเปน และภูมิภาคทะเลดำ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น ซูดานใต้ ก็มีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมือง พื้นที่ที่นักวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หมายถึง พื้นที่เผชิญภัยแล้งและขาดความชื้นอย่างต่อเนื่อง พื้นดินสูญเสียน้ำจำนวนมาก ผ่านการระเหยและการปล่อยไอระเหยของพืช มากกว่าที่ไหลมาในรูปของฝนหรือหิมะ ปี 2020 พื้นที่มากกว่า 40% ของโลก (ไม่นับรวมทวีปแอนตาร์กติกา) ที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หากพื้นที่แห้งแล้งขยายตัวออกไปอีก ภูมิภาคต่าง ๆ หลายแห่งอาจได้รับผลกระทบ หากปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภูมิภาคตะวันตกกลางของสหรัฐ เม็กซิโกตอนกลาง แอฟริกาตอนใต้เป็นบริเวณกว้าง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด โดยเฉพาะในยุโรปที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่กว่า 95.9% ของทวีปแห้งแล้งมากขึ้น และแนวโน้มนี้อาจรุนแรงขึ้นหากการปล่อยมลพิษเพิ่มสูงขึ้น