ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ของใช้ในครัวที่เป็นพลาสติกสีดำ มีสารที่เป็นอันตรายผสมอยู่ในปริมาณสูง
โดยเป็นข้อมูลที่มาจากผลจากการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยท็อกซิก-ฟรี ฟิวเจอร์และสถาบันเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแห่งอัมสเตอร์ดัม มหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 203 รายการที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำ พบว่า 85% ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีสารหน่วงการติดไฟผสมอยู่ในปริมาณสูง งานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารคีโมสเฟียร์ มีเมแกน หลิว ผู้จัดการด้านวิทยาศาสตร์และนโยบาย เป็นผู้ร่วมดูแลโครงการวิจัย เธออธิบายว่า สารหน่วงการติดไฟหรือ Retardant คือสารชนิดเดียวกันกับสารที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สารชนิดนี้จะพบในอุปกรณ์ที่ผลิตด้วยพลาสติกสีดำเท่านั้น ไม่มีในพลาสติกสีอื่น เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และเคลือบสารหน่วงการติดไฟเหล่านี้มักจะมีสีดำ หลิวชี้ว่า ความจริงแล้วก็ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็งได้ในการผลิตอยู่แล้ว และระบบการรีไซเคิลก็ทำให้สารนี้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนในหลาย ๆ ทาง และจากการตรวจสอบก็พบสารนี้อยู่ในปริมาณที่น่ากังวลใจ ผลการศึกษาพบว่า พลาสติกที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อาจถูกนำไปรีไซเคิลและกลายเป็นวัสดุผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวซึ่งไม่ได้ต้องการคุณสมบัติการหน่วงการติดไฟเท่าไหร่นัก และกลับกลายเป็นว่า ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสสารอันตรายนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเด็กและสตรีในวัยเจริญพันธุ์ นักวิจัยระบุว่า ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารนี้ ได้แก่ การก่อโรคมะเร็ง, รบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ, เป็นพิษต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ หนึ่งในสารเคมีอันตรายที่ตรวจพบในภาชนะคือสารต้องห้ามที่เรียกว่า decaBDE ซึ่งใช้ทำชิ้นส่วนด้านนอกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษายังเผยให้เห็นว่าสารดังกล่าวแทรกซึมเข้าสู่บ้านของเราผ่านทางวัสดุพลาสติกรีไซเคิล เช่น การนำวัสดุของตู้เครื่องรับโทรทัศน์ไปรีไซเคิลเป็นภาชนะจัดเก็บอาหาร หากว่ายังไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใช้เสี่ยงอันตรายเหล่านี้ได้ในทันที ก็ควรหลีกเลี่ยงการนำไปใช้หรือสัมผัสของของร้อนเป็นเวลานาน ๆ อย่างไรก็ตาม ควรเปลี่ยนเครื่องใช้นั้นทิ้งไปในทันทีหากมันละลายหรือเสียรูปเนื่องจากความร้อน