คนที่ชอบมโน สร้างภาพ ทั้งในชีวิตประจำวัน และ บนโลกโซเชียลมีเดีย คือ การหลอกตัวเองหรือไม่ ?
อาการหลอกตัวเอง (Pathological Liar หรือ Mythomania หรือ Pseudologia fantastica) จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพ หรือ ความผิดปกติทางพฤติกรรม โดยจะมีพฤติกรรมโกหกตามแรงกดดันจนกลายเป็นนิสัย เมื่อถูกบังคับหรือถูกกดดันให้พูดความจริง จะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ จนกลายเป็นพฤติกรรมโกหกโดยอัตโนมัติ
การโกหกของผู้ที่หลอกตัวเองไม่ใช่การโกหกสีขาว หรือ การโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นครั้งคราว แต่เป็นการโกหกแบบไม่มีเหตุผลแน่ชัด ทำให้ผู้รับฟังรู้สึกหงุดหงิด และ ไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร
อาการที่เข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มอาการหลอกตัวเอง ที่สามารถสังเกตได้ คือ
พูดไม่ตรงตามความเป็นจริง เรื่องราวที่พูดมีสีสันเกินจริงเพื่อเรียกร้องความสนใจ จะพูดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ หรือ สร้างตัวตน สร้างภาพ ตัวเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาประเมินแยกกันอีกที เพราะโดยปกติคนทั่วไปจะพูด หรือ โพสต์เรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง สลับกันไป ส่วนคนที่พูด หรือ โพสต์เรื่องราวที่ไม่จริงเยอะ ๆ บ่อย ๆ ก็อาจจะต้องมาประเมินด้วยเช่นกันว่าเข้าข่ายเสี่ยงมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยหรือแค่เพราะความสนุกเท่านั้น
สาเหตุของอาการหลอกตัวเอง
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าการหลอกตัวเองเกิดจากสาเหตุใด พฤติกรรมการโกหกหลอกตัวเองเหล่านี้ ปัจจุบันยังมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย แต่พอจะสรุปได้ว่า น่าจะเกิดจากการที่ตัวเองมีชีวิตที่ไม่น่าสนใจ ไม่มีสีสัน อยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็เลยใช้การโกหกขึ้นมาเพื่อให้ชดเชยความรู้สึกเหล่านั้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคต่อต้านสังคม โรคหลงตัวเอง โรคย้ำคิดย้ำทำ อาจเป็นผลมาจากระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ การบาดเจ็บที่ศีรษะ บาดแผลทางจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก หรือ ระดับฮอร์โมน คอร์ติซอล (Cortisol) ไม่สมดุล
อาการของการหลอกตัวเอง
1.โกหกแบบไม่มีจุดประสงค์ที่แน่ชัด เป็นการโกหกโดยสร้างเรื่องขึ้นมาแบบไม่มีเจตนาแน่ชัดซึ่งเพื่อน ครอบครัว หรือ คนรอบข้างไม่สามารถหาสาเหตุของการโกหกนั้นได้
2.เรื่องเล่าน้ำเน่า ซับซ้อน มีรายละเอียดมาก ผู้ที่หลอกตัวเองจะชอบแต่งเรื่อง ชอบเล่าเรื่อง โดยเรื่องที่เล่าส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก น่าติดตาม ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เกินจริงและมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวใจอีกฝ่าย
3.ชอบสวมบทบาท ผู้ที่หลอกตัวเองมักจะสวมบทบาทเป็นฮีโร่ หรือ เหยื่อ ในเรื่องโกหกหรือเรื่องเล่า เพื่อเรียกร้องความสนใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความชื่นชอบ การยอมรับจากคนอื่น
4.เชื่อว่าเรื่องที่โกหกเป็นเรื่องจริง ผู้ที่หลอกตัวเองมักเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องจริง ทำให้การรับมือกับผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเองกลายเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยอาจแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนเรื่องจริง สิ่งไหนเรื่องแต่ง
ในระยะยาวคนที่มีอาการเหล่านี้หลาย ๆ คน เมื่อโกหกมาก ๆ จะเกิดความรู้สึกผิด รู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไปเช่นกัน อาจทำให้เกิดภาวะทางจิตเวชได้
วิธีรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเอง
1.ควบคุมสติและใจเย็นกับผู้ที่หลอกตัวเอง คอยเป็นกำลังใจ ใช้เหตุผลชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ควรบังคับให้พูดความจริง ผู้ที่หลอกตัวเองมักเล่าเรื่องราว หรือ ตอบคำถามด้วยเรื่องโกหก ดังนั้นไม่ควรคาดหวัง หรือ บังคับให้พูดความจริง แต่ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผลและใช้ความใจเย็น
2.ไม่ควรสนับสนุนคำโกหก หากผู้ที่หลอกตัวเองกำลังพูดโกหกไม่ควรสนับสนุนคำโกหกนั้น แต่ควรใช้คำถามอย่างสุภาพถึงเรื่องที่กำลังเล่าตามความเป็นจริง วิธีนี้อาจช่วยให้ผู้ที่หลอกตัวเองเลิกโกหกได้
3.สนับสนุนให้ผู้ที่หลอกตัวเองเห็นคุณค่าในตัวเอง ควรทำให้ผู้ที่หลอกตัวเองรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาเพื่อให้ผู้อื่นประทับใจ คอยอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจให้เสมอ เมื่อผู้ที่หลอกตัวเองทำเรื่องใดได้ดี หรือ ประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ ตามความสามารถที่แท้จริงของเขา ก็ชื่นชมให้กำลังใจเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวเอง
4.ให้ความช่วยเหลือด้านการรักษา การเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษาให้ให้กับผู้ป่วย ใช้คำพูดโน้มน้าวใจที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย เป็นปมด้อย และสนับสนุนในการรักษาอยู่เสมอ




















