"รุก" หรือ "รับ" ฝ่ายไหนเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากัน
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “โรคเอดส์” กับ “เอชไอวี” ไม่เหมือนกัน “เอชไอวี” คือชื่อเชื้อไวรัส “โรคเอดส์” คือกลุ่มอาการที่บ่งบอกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ฉะนั้นการติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้เท่ากับโรคเอดส์ทุกราย แต่ถ้าติดเชื้อเอชไอวีแล้วไม่ได้รับการรักษาก็สามารถเป็นโรคเอดส์ได้
ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารคัดหลั่งที่สัมผัส เช่น เลือด และสารคัดหลั่งที่มีเลือดปนจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากที่สุด รองลงมาคือ น้ำอสุจิ น้ำคร่ำ น้ำในช่องคลอด ส่วนที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ หรือ แทบจะไม่มีเลยคือ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก และเสมหะ ถ้าไม่ได้มีเลือดปนอยู่ด้วย
จากการศึกษาได้เปิดเผยตัวเลขประมาณความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รัก ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1.มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ฝ่ายรับที่เป็นเพศหญิงจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีถึง 8 ใน 10,000 ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายจะมีความเสี่ยงเพียงแค่ 4 ใน 10,000 ครั้ง หรือ มีความเสี่ยงครึ่งหนึ่งของฝ่ายรับ
2.มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะเป็นคู่ชายรักชายแล้ว ปัจจุบันพบว่าคู่รักชายหญิงก็มีรสนิยมทางเพศทางทวารหนักเช่นกัน ซึ่งตัวเลขของฝ่ายรับไม่ว่าจะเป็น ชาย หรือ หญิง ก็มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีมากถึง 138 ใน 10,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายรุกที่เป็นเพศชายมีความเสี่ยงเพียง 11 ใน 10,000 ครั้ง เท่านั้น
3.มีเพศสัมพันธ์ทางปาก อย่างที่ทราบกันดีว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นสามารถร่วมรักทางปากได้ด้วย ซึ่งความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายรับ หรือ ฝ่ายรุก มีตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงนั้นคือศูนย์ เพราะถ้าปากมีเลือดออก มีแผล เหงือกอักเสบ ก็สามารถเป็นทางเข้าเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน
ส่วนสาเหตุที่ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อที่สูงกว่าช่องทางอื่น เพราะ ทวารหนักบอบบาง มีสารหล่อลื่นน้อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บและการฉีกขาดบริเวณทวารหนักจนเกิดแผลได้ง่าย รวมไปถึงมีเซลล์ต่าง ๆ ที่สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ง่าย ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงมีมากกว่าช่องทางอื่น
คู่รักทุกเพศ ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบใด การให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเกิดติดโรคขึ้นมา ความสุขที่เคยมีก็อาจกลายเป็นความทุกข์
อย่างไรก็ตามแม้การตรวจสุขภาพจะช่วยให้อุ่นใจได้ในการลดความเสี่ยง แต่ในบางกรณีอาจตรวจไม่พบเชื้อ ด้วยเชื้อจะมีการหลบซ่อน หรือ อาจได้รับเชื้อภายหลังเมื่อผ่านการตรวจไปแล้ว จึงทำให้เกิดความเสี่ยงได้อยู่ดี
ดังนั้น ในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง จึงควรสวมถุงยางอนามัยเสมอ เพราะ การสวมถุงยางอนามัยจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า 90% ไม่ว่าจะเป็น HIV ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม รวมถึงโรคอื่นๆ อีกหลายโรค