ทำไม? สงกรานต์ถึงกำหนดเป็นเดือนเมษายน
ทำไม? สงกรานต์ถึงกำหนดเป็นเดือนเมษายน
ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในอดีต ใช้สำหรับเป็นตัวกำหนดวันและเวลา โดยนับจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้น ใช้เวลาถึง 365 วัน
ผู้คนในสมัยโบราณรวมถึงสังคมไทยต่างใช้ เดือนเมษายนของทุกปีเป็น "วันสงกรานต์" ซึ่งเป็นวันในช่วงกลางเดือนเมษายน ให้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยมในปี พุทธศักราช2483
"สงกรานต์" แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่ใน เดือนเมษายนนั้น เป็นเดือนที่พิเศษกว่าเดือนอื่นๆ เนื่องจากในวันที่ 14 เมษายน ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นการเริ่มต้นการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ครั้งใหม่อีกด้วย
การโคจรของโลกที่เป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์นี้ เรียกว่า "สุริยวิถี" แถบสมมติบนท้องฟ้าที่เป็นระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง ระนาบสุริยวิถีนี้ จะมีกลุ่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม เรียกว่า "จักรราศี"
ผู้คนในสมัยโบราณจึงใช้กลุ่มดาวจักรราศีกำหนดวันและปี โดยกลุ่มดาวจักรราศีได้ถูกแบ่งออก เป็น 12 กลุ่มดาว หรือ 12 ราศี ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
เวลาที่แหงนดูในท้องฟ้า จะเห็นกลุ่มดาว 12 ราศีเรียงตามลำดับจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก เริ่มตั้งแต่
1. กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) กลุ่มดาวแกะ - Aries ภาษาลาติน แปลว่า "แกะตัวผู้" ชาวอาหรับเรียกว่า "เจ้าชายแห่งสิบสองราศี" หรือ "เจ้าชายแห่งท้องฟ้า" หรือ "ผู้นำของกลุ่มดาว 12 ราศี" ราศีนี้จึงถูกยกให้เป็นราศีที่ 1 ใน 12 จักรราศี
2.กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ)
3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน)
4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ)
5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์)
6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์)
7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล)
8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก)
9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธน)
10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร)
11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ
12.กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน)
โดยเป็นกลุ่มดาวฤกษ์จำนวน 12 กลุ่ม ที่อยู่ล้อมรอบระบบสุริยะ ซึ่งเมื่อมองจากโลกจะเห็นกลุ่มดาวเหล่านี้ ปรากฏเป็นฉากหลังของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้า แตกต่างกันไปตามช่วงระยะเวลาของเดือน
และเมื่อโลกโคจรมาอยู่จุดที่ดวงอาทิตย์มีกลุ่มดาวแกะเป็นฉากหลังอีกครั้ง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นวงโคจรครั้งใหม่ของโลก
คืนนี้ลองแหงนดูดาว ว่ามีดาวอะไรปรากฏบนท้องฟ้าบ้างนะคะ
ขอบคุณข้อมูล: สมาคมดาราศาสตร์ไทย
















