ไทใหญ่ หรือ ฉาน
ไทใหญ่ หรือ ฉาน หรือ เงี้ยว (ซึ่งเป็นคำเรียกที่ไม่สุภาพ) คือกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อันดับสองของพม่า ส่วนมากอาศัยในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณดอยไตแลง ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าคนไทใหญ่ในประเทศพม่ามีประมาณ 3 หรือ 4 ล้านคน แต่มีไทใหญ่หลายแสนคนที่ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อหนีปัญหาทางการเมืองและการหางาน ตามภาษาของเขาเองจะเรียกตัวเอง ไต มีหลายกลุ่มเช่น ไตขืน ไตแหลง ไตคัมตี ไตลื้อ และไตมาว แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ไตโหลง (ไต = ไท และ โหลง (หลวง) = ใหญ่) หรือที่คนไทยเรียกว่า ไทใหญ่ จะเห็นได้ว่าภาษาไตและภาษาไทยคล้ายกันบ้างแต่ไม่เหมือนกัน ชาวไทใหญ่ถือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันชาติ เมืองหลวงของรัฐฉานคือ ตองยี มีประชากรประมาณ 150,000 คน ส่วนเมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ สีป้อ ล่าเสี้ยว ยองห้วย(ยองชเว) เชียงตุง และท่าขี้เหล็ก
ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายกึงจอง ส่วนน้อยนับถือนิกายกึงโยน กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในรัฐฉาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
ชาวไทใหญ่ หรือไทหลวง (ไตโหลง)
ชาวไทลื้อ มีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาของประเทศจีน และทางตะวันออกของรัฐฉาน
ชาวไทเขิน (ไตขึน) เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองเชียงตุง
ชาวไทเหนือ (ไตเหลอ) อาศัยอยู่ในแค้วนใต้คง (เต้อหง) ของประเทศจีน
ประวัติศาสตร์ไทใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงคราม จนการเรียนประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่กลายเป็นวิชาต้องห้ามมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง อิทธิพลทางวัฒนธรรมของพม่าในไทใหญ่จึงมีมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และการเมือง กล่าวคือเมื่อพม่ามีอิทธิพลทางการปกครองก็จะเกณฑ์ให้เจ้าฟ้าไทใหญ่ส่งลูกชายและลูกสาวไปเมืองหลวงพม่า เจ้าหญิงเจ้าชายเหล่านี้จึงได้รับวัฒนธรรมพม่ามา และนำกลับมาเผยแพร่แก่ประชาชนไทใหญ่ในรูปแบบของภาษา ดนตรี นาฏศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น เกิดความนิยมว่า วรรณคดีที่ไพเราะซาบซึ้งควรมีคำพม่าผูกผสมผสานกับคำไท
ภาษาไทใหญ่เป็นวิชาเลือกหนึ่งภายในรัฐ เจ้าขุนสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมรัฐฉานในอดีต เคยออกสำรวจคนไทใหญ่ในพม่า พบว่ามีคนไทใหญ่พูดภาษาไทใหญ่มากมายหลายแห่ง แต่ไม่มีจำนวนที่แน่นอน เพราะคนไทใหญ่เหล่านั้นจะเรียกตนเองว่าเป็นพม่า พูดภาษาพม่า แต่งกายเป็นพม่า
ชาวไทใหญ่ในอดีตตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เกิดการแบ่งเขตแดนในช่วงล่าอาณานิคมโดยชาวตะวันตก ทำให้บ้านเมืองของชาวไทใหญ่ถูกแบ่งแยก ผู้คนอพยพ กระจัดกระจายไปหลายประเทศ โดยภาคเหนือของประเทศไทยนั้นมีการอพยพและการเคลื่อนย้ายของกลุ่มไทใหญ่สู่จังหวัดเชียงราย เช่น ชุมชนป่าก่อ และในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น อำเภอขุนยวม และอาศัยกระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ศาสนาและความเชื่อ ชาวไทใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ที่เคร่งครัดในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งดั งความเชื่อในพุทธศาสนา ที่ส่งอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ในความนิยมทำบุญของชาวไทใหญ่ ปรากฏเป็นพิธีกรรมสำคัญ เช่น ประเพณีปอยส่างลอง ประเพณีจองพารา นอกจากนี้ยังพบความเชื่อร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ เช่น การสักรูปสัตว์ เช่น สิงห์ มอม และลวดลายอักขระ คาถาอาคมเพื่อความคงกระพันและยังพบการสักในผู้หญิงเพื่อป้องกันภัยอีกด้วย
การแต่งกาย ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ผ่าหน้า ติดกระดุมผ้าคล้ายไส้ไก่ ขมวดเป็นปมพร้อมตกแต่งลวดลาย กางเกงขาก๊วยเป้าต่ำ
ผู้หญิง สวมเสื้อผ่าหน้าหรือเสื้อป้าย แขนกระบอก เอวสั้น ตกแต่งลวดลายสวยงามด้วยการปักหรือฉลุผ้าตามขอบ กระดุม ที่กลัดเสื้ออาจจะใช้กระดุมผ้าหรือพลอยกลัดกับหูกระดุม ซิ่นที่นุ่งนั้นมีการต่อหัวซิ่นด้วยผ้าเนื้อนิ่มสีดำพับทับแล้วเหน็บที่หัวซิ่น ใช้เข็มขัดเงินคาดทับการโผกหัวพันผ้าห้อยเป็นวัฒนธรรมของไทใหญ่ในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะโผกหัวกันเป็นปกติ
ภาษา ชาวไทใหญ่มีภาษาเป็นของตนเอง ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน อยู่ในตระกูลภาษากลุ่มไท-กระได ซึ่งใช้ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่กระจายอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงตอนใต้ของประเทศจีน ภาษาพูดของไทใหญ่เรียกว่า “ความไท” หรือความไต ภาษาไทใหญ่มีเสียงวรรณยุกต์5 เสียง คำศัพท์ส่วนใหญ่แตกต่างไปจากภาษาไทในกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่น ๆ ในล้านนาค่อนข้างมาก นอกจากนั้น ยังได้รับอิทธิพลจากพม่ามาด้วย เนื่องจากรัฐฉาน อยู่ในเขตแดนของประเทศสหภาพเมียนมาร์ คำศัพท์หลายคำจึงเป็นคำศัพท์ของพม่าปนมาด้วย
อาหาร ชาวไทใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวในล้านนา ที่นิยมทานข้าวเจ้าเป็นหลัก ใช้ผักเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร โดยเครื่องปรุงได้มาจากพืชผักธรรมชาติ เช่น พริก เกลือ หอม กระเทียม เครื่องปรุงสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทใหญ่คือ “ถั่วเน่า” หรือถั่วเหลืองหมัก มีทั้งถั่วเน่าแผ่น เรียกว่า ถั่วเน่าแข็บ และถั่วเหลือง ที่หมักและบดละเอียด โดยจะเก็บไว้ในลักษณะคล้ายการเก็บน้ำพริกตาแดง จะไม่ทำให้แห้ง ใช้แทนกะปิ เรียกว่าถั่วเน่าเมอะ อาหารที่ขึ้นชื่อของคนไทใหญ่ เช่น จิ๊นลุง อุ๊บไก่ ข้าวส้ม เป็นต้น
นอกจากอาหารคาวแล้ว ก็ยังมีขนมหวานอีก เช่น อาละหว่า ข้าวหย่ากู๊ ส่วยทะมิน เปงม้ง แอบน้ำอ้อย ข้าวมูลห่อ เป็นต้น ซึ่งขนมของชาวไทใหญ่ มักจะทำขึ้นในช่วงเทศกาลต่าง ๆ
ประเพณีที่สำคัญของชาวไทใหญ่ เป็นการทำบุญทำทานเป็นหลัก กำหนดการจัดงานประจำปีเรียกว่า “หย่าสี่” ซึ่งตรงกับคำว่า “ราศี” ทั้ง12เดือนหรือประเพณีสิบสองเดือน เช่น ประเพณีตานข้าวหย่ากู้ กองโหล ปอยห่างน้ำ ปอยสลาก ปอยเหลินสิบเอ็ด หรืองานจองพารา ปอยเหลิ่นสิบสอง โดยมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ ประเพณีปอยส่างลองเป็นการบรรพชาสามเณรตามแบบไทใหญ่ และประเพณีสิบสองล่องมนผ่องไตหรือประเพณีลอยกระทงใหญ่เป็นประเพณีเก่าแก่ที่จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และบูชาพระอุปคุต พระอรหันต์ตามความเชื่อ
นาฏศิลป์ ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่ คือ การฟ้อนนกกิงกะหล่า หรือนกกิงกะหร่า เป็นการแสดงประกอบการเฉลิมฉลองประเพณีออกหว่า หรือ งานออกพรรษา ซึ่งตรงกับประเพณีเดือน 11 โดยมีความเชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระมารดาและเทวดายังชั้นสวรรค์ดาวดึงส์ และเมื่อเสด็จนิวัติยังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหณะ
รำ ฟ้อนไตหรือรำไต เป็นการรำที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้งเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ได้มีการว่างเว้นไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดย พ่อครูแก้ว และแม่ครูละหยิ่น ทองเขียว ซึ่งในการรำไตใช้เพลงอยู่ 3 เพลง มาบรรเลงต่อเนื่องกัน คือ
1.มวยโล่วโล่ว
2.จู่จู่มวย
3.ขะย่านตานโจ่ง
เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีของชาวไทใหญ่ เช่น
1.มองแว๊ง(ฆ้องวง)
2.ปาตยา(ระนาดเล็ก)
3.เช่าลงปั๊ด
4.มองถ่าง(ฆ้องราง)
5.จะควิ่น
6.ตอยลง
7.จี(เครื่องเคาะจังหวะ)
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีของชาวไทใหญ่ เช่น
1.ตอยอฮอร์น(คล้ายไวโอลิน)
และยังมีการใช้ ป่ากย่าหรือแอคคอร์เดียน อีกด้วย
จ๊าดไต การแสดงลิเกไทใหญ่ หรือจ๊าดไต มีลักษณะคล้ายกับการแสดงลิเกของภาคกลาง ของประเทศไทยเรา ต้นกำเนิดจ๊าดไต อยู่ที่รัฐฉานของพม่า มีการพัฒนามาจากการแสดงข้างถนน จนเป็นมหรสพที่ยิ่งใหญ่ และนิยมเล่นกันโดยทั่วไป เมื่ออังกฤษมีอำนาจเข้ามาปกครองรัฐฉานของพม่า จนเกิดสงครามขึ้น ชาวไทใหญ่บางส่วน ได้อพยพมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณชายแดนที่ติดต่อกับบ้านห้วยผึ้ง และได้เข้าตั้งครัวเรือนที่บ้านคาหาน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำการแสดงจ๊าดไตมาด้วย และได้คิดรูปแบบการแสดง โดยใช้เครื่องดนตรีแบบง่ายที่หาได้ในตอนนั้น เป็นการดีด สี ตี เป่า ตามลักษณะวิถีชีวิตในขณะนั้น ส่วนการแสดงจ๊าดไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น จะเป็นการผสมกันระหว่างไทใหญ่กับพม่า ทั้ง ท่าทาง การร่ายรำ แนวเพลง รวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้ ยกเว้นเพลงที่ร้องที่ยังคงเอกลักษณ์ของไทใหญ่อยู่
เครือข่ายไทใหญ่ในแต่ละพื้นที่ มีทั้งเครือข่ายวัด ชุมชน และเครือข่ายระหว่างบุคคล ประกอบด้วย เครือข่ายจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ กระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเครือข่าย ในจังหวัดเชียงราย เช่น ชุมชนใกล้วัดประตูหวาย วัดช้างมูบ วัดพระธาตุกาดำ วัดสามเต้า วัดป่าเหมือดรุ่งเรืองหรือบ้านป่าเหมือด วัดห้วยน้ำขุ่น วัดม่วงชุม วัดสันป่าก่อ วัดไม้ลุงขน เครือข่าย จังหวัดเชียงใหม่ เช่น วัดป่าเป้า อำเภอเมือง วัดเวียงพางคำ อำเภอเวียงแหง และบ้านลาน อำเภอฝาง เครือข่ายจังหวัดแม่ฮ่องสอน เครือข่ายวัดหนองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อำเภอสอง และเครือข่ายจังหวัดพะเยา วัดนันตาราม อำเภอเชียงคำ เรียกไทใหญ่กลุ่มนี้ว่าชนเผ่า “ป่าโอ” มีการอพยพมาจากรัฐฉาน