นอนดีชีวิตเป็นสุข สุขภาพดีได้ง่าย ๆ เริ่มจากการนอน การนอนหลับ ช่วยชะลอวัยได้
ฮอร์โมนกับการนอนหลับ
- เมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนการนอน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับ ปกติจะหลั่งออกมาเวลา 00 - 01.30 น. โดยระดับเมลาโทนินในร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเย็น สูงสุดในช่วงกลางคืน และลดลงในตอนเช้า เพราะฮอร์โมนชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยความมืดและถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง หากอยากนอนหลับได้ดี จึงควรเข้านอนให้ตรงเวลา ปรับสภาพแวดล้อมการนอนให้มืดสนิท ไม่มีแสงสว่างรบกวน
- คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น มีพลังต่อสู้ พร้อมรับมือกับปัญหาระหว่างวัน การอดนอนจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะผลิตคอร์ติซอลออกมามากเกินความจำเป็น ส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีนด้วย จึงทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว คนที่เคร่งเครียดมาก ๆ จึงดูแก่กว่าวัย
- ดีเอชอีเอ (DHEA : Dehydroepiandrosterone) หรือฮอร์โมนต้านความเครียด ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (Libido) และชะลอความเสื่อมของร่างกาย ที่สำคัญยังช่วยต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอลเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด หากนอนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะหลั่งดีเอชอีเอออกมาน้อย จนนำไปสู่ภาวะเสพติดความเครียด และภาวะต่อมหมวกไตล้า สาเหตุสำคัญของการล้มป่วยและติดเชื้อเฉียบพลัน
- โกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) หรือฮอร์โมนชะลอความแก่ สารเคมีแห่งความเป็นหนุ่มสาว มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยย่อยน้ำตาลและไขมัน ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานเป็นปกติ โกรทฮอร์โมนออกมาในช่วงที่หลับลึกระหว่างเวลา 00 – 01.30 น. ควรเข้านอนตั้งแต่ 22.00 น. หรือช้าที่สุด 23.00 น. เพราะหากเลยเวลาเที่ยงคืนแล้ว ร่างกายก็จะไม่ผลิตโกรทฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมแล้ว
รู้หรือไม่ว่าการนอนหลับ ช่วยชะลอวัยได้?
ขณะที่หลับ สมองจะผลิต Growth Hormone ออกมา และยังมีการผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยให้หลับสนิทสารนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งสารเมลาโทนินนี้ถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะหลับสนิทและห้องมืดสนิท
หากนอนดึก ตื่นสาย สารเซโรโตนิน (Serotonin) หรือสารที่ทำให้มีความสุขสดชื่นตลอดทั้งวันก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย อ่อนเพลียและเป็นโรคซึมเศร้าได้
หากนอนไม่ครบ 8 ชม. ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) น้อยลง ซึ่งสารตัวนี้มีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร การอดนอนจะทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้อ้วน ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดลง ระบบความทรงจำมีประสิทธิภาพลดลง เพราะ Hippocampus ส่วนประกอบสำคัญของสมองที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลการเรียนรู้ระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว จะทำงานได้ดีที่สุดตอนที่หลับเท่านั้น
เมื่อหลับสนิท ตับ ไต ลำไส้ จะทำงานได้ดีขึ้น สังเกตได้ว่าคนอดนอนอาจจะมีปัญหาท้องผูก หน้าตาหม่นหมอง ไม่สดชื่น ที่สำคัญสุขภาพไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากพิษของการนอนดึก
สรุปได้ว่า การนอนเข้านอนเร็วก่อนสี่ทุ่มและตื่นเช้า จะช่วยทำให้นาฬิกาชีวิตเดินอย่างสมดุล ไม่เร็วจนเกินไป ช่วยชะลอวัยได้ เพราะช่วงเวลาของการนอนหลับเปรียบเสมือนช่วงเวลาที่ได้รับรางวัลจากธรรมชาติ สมองจะหลั่งสาร “Growth Hormone” ซึ่งในเด็ก สารนี้จะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตและความสูง ส่วนในผู้ใหญ่ สารนี้จะช่วยในเรื่องของการซ่อมแซมร่างกาย เผาผลาญไขมัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ผิวพรรณเปล่งปลั่งและสมานแผลอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้านอนได้ตามเวลา หลับสนิทเต็มอิ่ม ผลที่ได้ก็คือสุขภาพที่ดีจนรู้สึกได้นั่นเอง