คิดเองเออเองบ่อย ๆ ว่า “มีคนดังแอบชอบตัวเอง” “คนรักนอกใจ” หรือ “คิดว่าตัวเองมีความหยั่งรู้” อาจเกิดจาก “โรคจิตหลงผิด” !?
โรคจิตหลงผิด (Delusional disorder) คือ โรคที่มีอาการผิดปกติทางความคิด การมีความเชื่อ หรือ ความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยมีอาการหลงผิดเป็นหลัก มักจะเชื่อมโยงความคิดในความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริงตั้งแต่ 1 เรื่องนานเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ผู้ป่วยมักจะผูกโยงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงไปในแนวทางเดียวกัน ให้สอดคล้องกับความหลงผิดของตัวเอง
ผู้ป่วยโรคนี้ไม่พบว่ามีอาการประสาทหลอนเด่นชัดเหมือนที่พบในโรคจิตเภท (schizophrenia) พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะไม่มีความแปลกประหลาด หรือ ผิดปกติที่เห็นชัดว่าแปลก ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ ยกเว้นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด เช่น ถ้าหลงผิดว่าเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง อาจจะขอลาออกจากที่ทำงาน ทั้ง ๆ ที่ยังทำงานด้านนั้นได้ตามปกติ หรือ มีอาการระแวงว่าตนถูกปองร้าย อาจเก็บตัว และ มีอารมณ์โกรธรุนแรง
ความแตกต่างของโรคจิตหลงผิด กับ อาการประสาทหลอน
- อาการหลงผิด เป็นความผิดปกติในเนื้อหาของความคิด
- อาการประสาทหลอน เป็นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ โดยไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงพูดคุยเป็นเรื่องราว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครพูด
ประเภทของโรคจิตหลงผิด
1.หลงผิดคิดไปเองว่ามีคนหลงรักตน Erotomanic type คือ หลงผิดคิดไปเองว่ามีคนหลงรักตนเอง โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง
2.หลงคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ Grandiose type คือ หลงคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีความสามารถเหนือคนอื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ หรือ เป็นคนสนิทเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ
3.คิดว่าตนเองกำลังถูกนอกใจ Jealous type คือ คิดว่าตนเองกำลังถูกนอกใจ หลงผิดคิดว่าคู่ครองไม่ซื่อสัตย์ โดยไม่มีหลักฐานไม่มีเหตุผลรองรับ
4.หวาดระแวงคิดว่ามีคนกลั่นแกล้ง Persecutory type คือ หวาดระแวงคิดว่ามีคนกลั่นแกล้ง มีคนจะมาทำร้ายตนเอง สะกดรอยตาม หมายเอาชีวิต
5.หลงผิดเกี่ยวกับร่างกาย Somatic type คือ หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายคิดว่าตนเองรูปร่างผิดปกติ บางส่วนของร่างกายผิดรูปร่าง อวัยวะไม่ทำงาน หรือ อวัยวะทำงานบกพร่อง
สาเหตุของโรคจิตหลงผิด
-พันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็น โรคจิตหลงผิด หรือ โรคจิตเภทมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
-ปัจจัยด้านชีวภาพ สันนิษฐานว่าสมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และความคิดทำงานผิดปกติ หรือ สารชีวเคมีในสมอง (neurotransmitter) ที่ไม่สมดุลทำให้เกิด อาการ หลงผิดได้
-ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เชื่อว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น โดยเฉพาะช่วงต้นที่พัฒนาความไว้วางใจ ส่งผลให้มีการใช้กลไกทางจิตที่ทำให้เกิดอาการตามมาได้
-พบในผู้ที่มีความเครียดสูง ได้รับความกดดันจากสภาวะทางสังคม
ผลกระทบของโรคจิตหลงผิด
-กระทบถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น การระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต อาจทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น
-ส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิต หากเป็นอาการหลงผิดคิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ อาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายคู่ครองนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด
กลุ่มเสี่ยงโรคจิตหลงผิด
ผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถพบได้ในคนที่มีความเครียดสูง ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีฐานะไม่ดี ทำให้มีการปรับตัวที่ผิดปกติ และเกิดความหวาดระแวงได้ ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 18-90 ปี และ พบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
การบำบัดรักษาโรคจิตหลงผิด
- ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถช่วยผู้ป่วยได้ โดยรับฟังด้วยความเข้าใจ การเปิดใจพูดคุยเรื่องที่รบกวนจิตใจ จะทำให้ อาการของโรคหลงผิดดีขึ้น
- การไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดว่าไม่จริง ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย แต่ชี้ให้เห็นเหตุเห็นผลของเหตุการณ์นั้นตามความจริง
- ให้กำลังใจผู้ป่วยถ้ามีความเครียด อารมณ์รุนแรง ที่เป็นสาเหตุหรือผลจากความหลงผิดนั้น
- การรักษาด้วยยาโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์
- รับตัวรักษาในโรงพยาบาล หากอาการรุนแรง เช่น มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น
ผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดอาจจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการหลงผิด ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการและแนะนำให้มารักษา เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ร่วมในสังคมได้