หน้าชื่นอกตรม ภาวะโรคยิ้มซึมเศร้า Smiling Depression ยิ้มง่ายแต่ภายในแตกสลาย
ภาวะโรคยิ้มซึมเศร้า Smiling Depression ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นโรคในทางการแพทย์ แต่ใช้เพื่อเป็นการอธิบายลักษณะของอาการอย่างหนึ่งในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) โดยมีอาการเก็บซ่อนอารมณ์ ความรู้สึกเอาไว้ไม่แสดงออกให้คนรอบข้างได้เห็น กังวลว่าคนรอบข้างจะเป็นห่วง ทุกข์ใจไปด้วย คนภายนอกจึงเห็นเพียงลักษณะที่ยิ้มแย้ม มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ดูมีสุขภาพจิตที่ดี หัวเราะเฮฮา มีความสดใสร่าเริง หรือ ที่เรียกกันว่า ภายนอกยิ้ม ภายในเศร้า หน้าชื่นอกตรม
จากงานวิจัยในต่างประเทศ พบผู้ที่มีลักษณะชอบความสมบูรณ์แบบ Perfectionist มีภาระความรับผิดชอบ ความกดดันสูง มักมีความเสี่ยงต่อภาวะ Smiling Depression ที่มากกว่า
ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression แม้มีอารมณ์เศร้า ไม่มีความสุข รู้สึกไร้ค่า แต่ที่ไม่ยอมแสดงออกมา เพราะคิดว่า การเป็นโรคซึมเศร้า นั้นดูอ่อนแอ กลัวว่าตนเองจะเป็นภาระผู้อื่น จึงพยายามที่จะรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ให้ได้ตามปกติ ให้มีรอยยิ้มบนใบหน้าแต่ก็ต้องใช้พลังอย่างมาก จึงทำให้ผู้ที่มีอาการนี้จะฝืนยิ้ม แสร้งว่าตัวเองมีความสุขต่อหน้าผู้คน
อาการของผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression
- สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแต่ข้างในรู้สึกเศร้า
- ปากยิ้ม แต่ สายตาดูไม่สดใส
- หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ
- ไม่อยากทำกิจกรรมที่ชอบ รู้สึกไม่สนใจเพลินเพลิดกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ ทำแล้วไม่สนุกเหมือนเคย หรือ ต้องใช้พลังอย่างมากในการทำ
- รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง รู้สึกผิด ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดเกี่ยวกับการตาย หรือ พยายามทำร้ายตนเอง
- อ่อนเพลีย
- ไม่อยากพบเจอผู้คน ต้องใช้พลังอย่างมากในการจะออกไปพบปะคนอื่น
- ไม่อยากอาหาร หรือ กินมาก เพื่อระบายความเครียด มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
- ต้องพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์
- นอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินไป
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีปัญหาในการใช้สมาธิจดจำรายละเอียด การคิด การตัดสินใจช้าลงจนคนอื่นสังเกตเห็นได้
สาเหตุของอาการ Smiling Depression
- ไม่อยากเป็นภาระ หรือ ทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี
- ถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง ครอบครัว มากเกินไป
- ไม่ชอบแสดงความรู้สึกของตัวเองให้ผู้อื่นได้รับรู้
- ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
- มักถูกตัดสินจากผู้อื่น หรือ คนในครอบครัว
- ไม่อยากให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อหน้าที่การทำงาน
วิธีการรับมือเมื่อมีภาวะ Smiling Depression
- พูดคุยเปิดใจกับคนที่รู้สึกสบายใจและไว้วางใจ
หาใครสักคน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวหรือปัญหาที่ทำให้ทุกข์ใจ เช่น เพื่อน คนรัก ครอบครัว คนที่เรารู้สึกสบายใจ เพราะในบางครั้งพวกเขาอาจไม่ทันสังเกตเห็นถึงความทุกข์ใจของเรา การพูดขอให้ใครคนหนึ่งรับฟังไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่กลับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และ การได้พูดสิ่งที่กังวลใจ หนักใจให้ใครสักคนฟัง ช่วยทำให้ความรู้สึกของน้ำหนักภาระ หรือ ปัญหาที่กำลังเผชิญเบาบางลงได้
- ออกไปท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ
การออกไปท่องเที่ยว เป็นเหมือนการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนบรรยากาศ ช่วยให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น และ ลดความเครียดลง ต้นไม้สีเขียว ธารน้ำไหล อากาศสดชื่น ชวนให้ผ่อนคลายจากเรื่องที่กังวลใจ
- ออกกำลังกาย และ พักผ่อนให้เพียงพอ
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน สารแห่งความสุข ช่วยลดความเครียด และการนอนที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอารมณ์ด้านลบ ทำให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ คลายเครียด อยากอาหารมากขึ้น ช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งเมื่อออกกำลังกายจะทำให้จดจ่ออยู่ที่ร่างกาย ช่วยดึงออกมาจากความคิดกังวลใจ
- ทำกิจกรรมที่อยากทำ หรือ งานอดิเรก
หากเบื่อกับกิจกรรมที่เคยทำ ให้ลองหากิจกรรม งานอดิเรกใหม่ ๆ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยรับมือกับ Smiling Depression ได้ดี เช่น วาดรูป ฟังเพลง ทำงานศิลปะต่าง ๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยบรรเทา ผ่อนคลายจิตใจ