เรื่องของการ “ผายลม” หรือ “ตด” เรื่องน่ารู้เมื่อคุณ “ตด” และ ตดสามารถบอกโรคได้
การผายลม หรือ ตด เรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อาการที่ลมระบายออกมาทางทวารหนัก เกิดจากแก๊สที่สะสมในระบบย่อยอาหาร และ ตดยังสามารถบอกถึงสุขภาพภายในของลำไส้ได้ด้วย
ตดเกิดจากอะไร ?
ตดเป็นกระบวนการขับลม แก๊ส ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตดจะประกอบไปด้วยแก๊สที่ไม่มีกลิ่น 99% อันได้แก่ แก๊สไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน มีเทน ส่วนแก๊สมีกลิ่นนั้นมีอยู่เพียง 1% ในตดเท่านั้น ซึ่งแก๊สที่มีกลิ่นจะเกิดจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ ก่อให้เกิดเป็นกำมะถัน ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นของตด
ตดแบบไหนบอกโรคอะไรได้บ้าง?
กลิ่นของตด
- ตดไร้กลิ่น เกิดจากการได้รับโปรตีนน้อย
- ตดมีกลิ่น เกิดจากการทานอาหารที่มีโปรตีน และ ผักที่มีกลิ่นแรงมาก
- ตดมีกลิ่นแรงมากผิดปกติ อาจเกิดจากลำไส้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย
ความถี่ของตด
โดยธรรมชาติคนเราจะตดเฉลี่ยวันละ 10-20 ครั้ง ฉะนั้นถ้าตดมากกว่า หรือ น้อยกว่านี้ แสดงว่าร่างกายกำลังผิดปกติ
- ตดน้อย ตดน้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน เสี่ยงโรคลำไส้อุดตัน
- ตดปกติ ตด 10-20 ครั้งต่อวัน ถือว่าปกติ
- ตดมาก ตดมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน เสี่ยงโรคทางเดินอาหาร
เสียงของตด
เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อหูรูด และ ความดันในลำไส้ใหญ่ ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดไม่ค่อยกระชับ และ ความดันภายในลำไส้ใหญ่มีน้อยตดก็จะเบา แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดบีบตัวแน่น และ แรงดันภายในลำไส้ใหญ่สูง ตดก็จะมีเสียงที่ดังกังวาล
- ตดไร้เสียง เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดไม่กระชับ ทำให้บีบตัวได้น้อย แรงดันในลำไส้จึงมีไม่มาก
- ตดมีเสียง เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดบีบตัวมาก แรงดันในลำไส้จึงมีมาก ตดแบบนี้เป็นพวกดีแต่เสียง มักไม่ค่อยมีกลิ่น
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตด
- อากาศที่ผ่านเข้าลำไส้ทางจมูก หรือ ปาก ในช่วงที่เคี้ยวอาหาร
- กินอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ชีส กระหล่ำปลี หัวหอม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม จะทำให้เกิดแก๊สในร่างกายมากเกินไป
- การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือ อมลูกอม
- อาหารสุขภาพที่มีปริมาณซัลเฟตสูง เช่น บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี ทำให้ตดมีกลิ่นเหม็น สารประกอบพวกซัลเฟอร์ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้เช่นเดียวกัน
- เมื่อกินอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ เช่น นม โยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมนี้ จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ทำปฏิกิริยาการหมัก (Fermentation) ทำให้เกิดก๊าซจำนวนมาก
- การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้อาหารย่อยไม่หมด เกิดอาการท้องอืดมีแก๊สในลำไส้
- กินเนื้อสัตว์มากเกินไป ร่างกายจะย่อยอาหารประเภทนี้ได้ช้า แบคทีเรียในลำไส้จะมาช่วยย่อย ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการหมัก เกิดแก๊สในลำไส้
- กินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ซึ่งร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยไขมันนาน เสี่ยงต่อการเกิดแก๊สในกระเพาะและลำไส้ ทำให้เรอบ่อย หรือ ผายลมบ่อยได้
- นอนไม่พอ วิตกกังวล ความเครียด อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี
- ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีอยู่แล้ว เช่น คนที่ท้องอืดประจำ
วิธีป้องกันไม่ให้ตดมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงอาหารที่รู้ว่าจะทำให้ตดง่าย หากรู้ว่าอาหารอะไรที่กินในชีวิตประจำวันแล้วทำให้ตดง่าย ให้ลองลดปริมาณการรับประทานอาหารเหล่านั้นให้น้อยลง
- แบ่งมื้ออาหารย่อยในแต่ละวัน บางครั้งการกินอาหารมื้อใหญ่มากเกินไปก็ทำให้ตดบ่อยขึ้นได้ ลองแบ่งมื้ออาหารที่ต้องกินให้แต่ละวันให้ถี่ขึ้นแต่ปริมาณน้อยลง แก๊สในลำไส้ใหญ่อาจน้อยลงและตดน้อยลงได้
- กินอาหารให้ช้าลง การเคี้ยวอาหารเร็วรวมถึงดื่มน้ำเร็วเกินไป จะเป็นการเพิ่มอากาศเข้าไปในร่างกายขณะกลืนอาหาร ดังนั้นการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง ค่อย ๆ ดื่มน้ำ จะสามารถทำให้คุณตดน้อยลงได้
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ วันละประมาณ 30 นาทีจะทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง และ ปริมาณแก๊สในร่างกายจะอยู่ในปริมาณเหมาะสม
- อย่ากินอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้การย่อยอาหารของกระเพาะอาหารช้าลง และ เกิดปริมาณแก๊สมากเกินไป
- การกินยาไซเมทิโคน (Simethicone) เพราะยากลุ่มนี้เป็นยาที่ถูกใช้เพื่อแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการจุกเสียดจากแก๊สที่มีปริมาณมากเกินไปด้วย
- หยุดสูบบุหรี่ และ เคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับแก๊สส่วนเกินเข้ามาในทางเดินอาหารมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอัดลม เพราะจะทำเกิดฟองแก๊สเพิ่มในทางเดินอาหาร
เรื่องผายลม หรือ ตด ไม่ใช่เรื่องตลก น่าขบขัน ชวนล้อเลียน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือ ให้ลองหมั่นสังเกตว่า “คุณตดบ่อยเกินไปหรือไม่ ? หรือ ตดมีกลิ่นเหม็นมากหรือไม่ ?” รวมทั้ง “มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นไหม ?”
เพราะหากตดบ่อยเกินไป หรือ ตดมีกลิ่นเหม็นมาก และ มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกายก็เป็นได้